Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เสวนาวิกฤตปาเลสไตน์ ฯ นักวิชาการชี้ ไทยควรกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ

เสวนาวิชาการ: วิกฤตปาเลสไตน์ ฯ ผลกระทบต่อโลกมุสลิมและไทย

นักวิชาการชี้ ไทยควรกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ

 

สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง วิกฤติการณ์ปาเลสไตน์: สาเหตุ ปัญหา พัฒนาการ ผลกระทบต่อโลกมุสลิมและไทย ณ ห้องแกรนด์ มีรอซ ชั้น 3 โรงแรมอัล มีรอซ ถนนรามคำแหง กรุงเทพ ฯ วันศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

 

จากสถานการณ์และเหตุการณ์รุนแรงในฉนวนกาซาที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เมื่อฮามาสเปิดปฏิบัติการ “พายุอัลอักซอ” บุกข้ามเข้าไปในเขตของอิสราเอล และจับชาวอิสราเอลและชาติอื่น ๆ ไว้เป็นตัวประกันกว่า 200 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยที่เป็นแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาไทย ร่วมกับซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำมุสลิมชีอะห์แห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง “คณะเจรจาภาคประชาชน” ไปพูดคุยเจรจาโดยตรงกับตัวแทนฮามาส เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวคนงานไทย รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการปล่อยตัวประกันอันเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับการดำเนินการอย่างเป็นทางการของรัฐบาล

 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า “มันเป็นหน้าที่ของผมในฐานะประธานรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ผมเป็นตัวแทนของพี่-น้องประชาชนทั้งประเทศ เมื่อพี่-น้องชาวไทยไม่ว่าศาสนาใดเกิดปัญหา ถ้าสามารถทำได้ผมต้องเข้าไปดูแล ครั้งนี้มีทั้งแรงงานไทยที่เสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกัน ในขณะที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้ แต่ผมคิดเลยว่าต้องช่วยคนไทยที่ตกเป็นตัวประกันก่อน เนื่องจากพวกเขาคงเป็นทุกข์เพราะไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง ซึ่งน่าเห็นใจมาก แต่ถ้าเขารู้ว่ามีคนกำลังช่วยเหลือ แม้จะต้องรอเวลาปล่อยตัวที่เหมาะสม พวกเขาน่าจะดีใจและโล่งใจ”

 

“ในทันทีนั้น ผมนึกถึงท่านซัยยิดสุไลมาน ฮูไซนี นักการศาสนาอิสลามชีอะห์ เพราะมุสลิมชีอะห์ในไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส เพียง 2 วันต่อมา ก็ได้รับทราบว่าประสานได้แล้ว และทางโน้นขอให้ส่งตัวแทนไปกรุงเตหะราน ทางเค้าพร้อมที่จะให้พบกับผู้นำฮามาส เพื่อพูดจากันเรื่องขอให้ช่วยเหลือตัวประกัน บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นการไปแย่งหน้าที่รัฐบาล ที่มีกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า มันมีข้อผูกพันของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจะติดต่อโดยตรงกับบางกลุ่มไม่ได้ ก็ต้องผ่านองค์กรอื่นหรือประเทศอื่นอยู่ดี ถ้าจะว่าไป เราเข้าไปเพื่อแก้ไขความทุกข์และสร้างความสุขให้คนไทย และมองเห็นความสำเร็จ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา”

 

ในส่วนของซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี นักการศาสนาอิสลามชีอะห์แห่งประเทศไทย ได้เท้าความถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือครั้งนี้ ว่า มีการพูดคุยกันว่าจะมีบทบาทอะไรได้บ้างในงานนี้ ในฐานะที่เป็นคนไทย และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอิหร่าน รวมทั้งขบวนการปาเลสไตน์ ที่สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน รณรงค์สนับสนุนอย่างมากผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเกือบ 40 ปี ซึ่งเขามั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จ

 

“ทางอิหร่านให้ความเอาใจใส่และให้เกียรติไทยมาก โดยท่านที่ปรึกษาประธานาธิบดีลงมาดูแลเอง และเราได้ทราบว่าผู้นำฮามาสยืนยันมาว่า คนไทยทุกคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันจะได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งความปลอดภัยและด้านความเป็นอยู่ ทางเราก็เบาใจ”

 

ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้คำมั่นว่า เขาจะนำประเด็นปัญหาความขัดแย้งในปาเลสไตน์ไปพูดในการประชุมองค์กรรัฐสภา ที่จะจัดขึ้นในประเทศต่าง ๆ  และได้มอบหมายนโยบายให้ผู้แทนของรัฐสภาไทย ว่า ‘ต้องยืนหยัดตามมติสหประชาชาติ ให้ความเป็นธรรมกับชาวปาเลสไตน์ ต้องยุติการหยุดยิง การทรมานทั้งหมด’

 

ที่สำคัญ เขาเรียกร้องคนไทยที่ยังไม่เข้าใจว่า ต้องแสวงหาความรู้ให้เข้าใจถึงก้นบึ้งของปัญหา รับฟัง ติดตามสถานการณ์ และสร้างจิตสำนึกด้วยใจที่เป็นธรรม โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่จะต้องถูกสอบสวนในโลกหน้าว่า ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพี่-น้องร่วมศรัทธาบ้าง แม้เพียงการขอดุอาอฺ (ขอพร) ให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับการคุ้มครองก็ตาม 

 

ช่วง วิกฤตเผชิญหน้าปาเลสไตน์-อิสราเอลในปัจจุบัน: สาเหตุ ปัญหา พัฒนาการ และผลกระทบต่อไทย มีนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงมาขึ้นเวทีในครั้งนี้ 4 ท่าน เริ่มจากผศ.ดร. มาโนชญ์ อารีย์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งกล่าวถึงหน้าที่ของเขาในการพยายามให้ความเห็น หรือพูดคุยในเรื่องนี้ แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากและอึดอัด เนื่องจากกระแสสังคมที่คล้อยตามสื่อที่สนับสนุนอิสราเอล

   

เขากล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม อิสราเอลเป็นต่ออย่างมากในมิติของสื่อและการโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากการมีอิทธิพลต่อสื่อตะวันตกและสื่อกระแสหลัก แต่ปรากฏว่าครั้งนี้มีการเตรียมตัวมาอย่างดี มีแถลงการณ์ของผู้นำฮามาสอย่างเป็นระบบ และแถลงการณ์นั้นสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและปรากฏการณ์ที่ตามมา ในทางกลับกัน แถลงการณ์ของอิสราเอลวกวน สับสน ไม่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องของสื่อและการโฆษณาชวนเชื่อระหว่างอิสราเอลกับฮามาสมีความสูสีกัน

 

“ในส่วนของสื่อไทย ปัญหาอยู่ที่ว่าเราหยิบข้อมูลของโลกตะวันตกมานำเสนอเพียงด้านเดียว ทั้ง ๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลายด้าน เช่น มีการเสนอข่าวเท็จและไม่แก้ข่าว ทำให้คนยังเข้าใจในแบบเดิม หรือข่าวจริงที่เป็นเรื่องสำคัญ กลับทำให้ดูเหมือนไม่สำคัญจนทำให้มันหายไปจากกระแสอย่างรวดเร็ว เช่น ข่าวคนไทยให้สัมภาษณ์ว่า คอมมานโดอิสราเอลยิงแรงงานไทยเพราะเขาใจว่าเป็นฮามาส หรือข่าวที่แรงงานคนหนึ่งบอกว่า “นายจ้างบังคับให้ใส่ชุดทหารอิสราเอล” ก็ไม่มีใครสนใจทำข่าวต่อ อีกประเด็นหนึ่งคือข่าวเรื่องคำพิพากษาศาลโลก มีการเสนอข่าวสั้น ๆ อย่างไม่ต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ในขณะที่ข่าวทูตอิสราเอลจ้างรถตุ๊ก ๆ 100 คัน จัดขบวน ติดข้อความทวงคืนตัวประกันชาวอิสราเอล บนแผ่นดินของประเทศไทย ไม่มีใครไปตั้งคำถามมากนัก ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะถูกใช้เป็นพื้นที่ในการโฆษณาชวนเชื่อของต่างชาติ จนทำให้ชาวโลกเห็นว่า ประเทศไทยสนับสนุนอิสราเอล หรือการแจกเสื้อยืดที่มีรูปธงชาติคู่ และป้ายโลหะห้อยคอที่มีข้อความ ‘พาตัวประกันกลับบ้านเดี๋ยวนี้’ เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฮิบรู ให้กับแรงงานไทย 23 คน ที่ถูกปล่อยตัว อาจจะไม่ได้หวังผลอะไรในประเทศ แต่ภาพนี้ออกไปยังสายตาชาวโลก และอาจทำให้ไทยถูกเข้าใจผิดว่าเลือกข้าง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ยกมือสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ในเวทีสหประชาชาติ

 

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ข่าวที่ไม่ถูกนำมาเสนอเลย เช่น ข่าวที่ทหารอิสราเอลเข้าไปขโมยข้าวของของชาวปาเลสไตน์ที่ทิ้งไว้ในบ้าน หลังจากที่พวกเขาต้องรีบหนีเอาชีวิตรอด ยังมีประเด็นที่หมอชาวปาเลสไตน์ ถูกห้ามให้ข้อมูลกับสหประชาชาติในความจริงที่เกิดขึ้น ข่าวนี้สื่อในอิสราเอลรายงานเอง แต่สื่อเราไม่กล่าวถึง หรือข่าวที่ฮามาสบุกเข้าไปในบ้านชาวอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม แต่ไม่ได้ทำร้ายเจ้าของบ้าน สิ่งเหล่านี้ย้อนแย้งกับสิ่งที่นำเสนอภาพของฮามาสที่โหดร้าย สื่อบ้านเราไม่นำเสนออย่างละเอียดในภาพที่เป็นเชิงบวก หรือเพราะสื่อกังวลว่า ถ้านำเสนอไปแล้วจะทำให้ภาพลักษณ์ของฮามาสดีขึ้น”

 

อาจารย์รุสตั้ม หวันสู จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทย ว่า ครั้งนี้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะว่ามีคนไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบ “ประเด็นที่อยากจะนำเสนอเพราะน่าเป็นห่วง คือ ทำไมแรงงานไทยจึงถูกจับตัวมากที่สุด แสดงว่า ในบริเวณที่ฮามาสบุกเข้ามามีคนไทยจำนวนมาก”

 

ไทยกับอิสราเอลลงนามข้อตกลง TIC ในการจัดส่งแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยให้ส่งแรงงานไร้ฝีมือไปทำงานในอิสราเอล ปีละ 5,000 คน ตั้งแต่ปี 2012 ตัวเลขแรงงานไทยในอิสราเอลในช่วงเดือนตุลาคม คือ 25,962 คน ส่วนใหญ่จำนวน 21,992 คน ทำงานภาคเกษตรกรรม พื้นที่ที่อยู่มากที่สุดคือทางตอนใต้ติดกับฉนวนกาซามีจำนวน 12,665 คน

 

“คำถามคือ รัฐบาลไทยมีความละเอียดรอบคอบในเรื่องของการส่งแรงงานเข้าไปหรือไม่ ในเมื่อแรงงานไทยเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้น การที่แรงงานไทยไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายหมายความว่าอย่างไร การให้แรงงานไทยทำงานในเขตเวสต์ แบงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครอง เท่ากับรัฐบาลไทยกำลังสนับสนุนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอลหรือไม่ ในกรณีนี้ รัฐบาลไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการที่จะรักษาชีวิตคนไทย มีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการที่จะตั้งเงื่อนไข ว่าเขตไหนที่คนไทยไม่ควรถูกส่งไปทำงาน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยากจะฝากสื่อมวลชน นักการเมือง ที่จะนำไปเสนอกับรัฐบาลเพื่อทบทวนพิจารณาแก้ไข”

 

ในส่วนของเชคฮูเซ็น บินสะเล็ม อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน มองท่าทีของประเทศไทยต่อปาเลสไตน์ ว่า การเมืองของรัฐบาลไทยค่อนข้างที่จะยึดโยงกับตะวันตกมากจนเกินไป แม้ว่าจะโหวตให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐเอกราชแล้ว แต่บางครั้งท่าที่ของรัฐบาลไทยยังถือว่าเย็นชากับความสัมพันธ์นี้ ในขณะที่มีการสร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างลึกซึ้ง จนเกินกว่าจะถอนตัวออกมาได้ง่าย และในความสัมพันธ์หลายเส้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อิหร่าน ก็ยึดโยงกันจนไม่อาจแยกออกจากความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ได้

 

ดังนั้น “เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศต้องมองในหลายมิติ ต้องมองอย่างยึดโยงกันในหลาย ๆ ส่วน เรื่องของอิหร่านในวันนี้มีบทบาทมาก และเกี่ยวโยงกับขบวนการติดอาวุธ รวมทั้งอิหร่านมีอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศสูง เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ และสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ในสถานะสำคัญ รวมทั้งความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ก็จะต้องปรับให้แน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับปาเลสไตน์นั้น เกิดขึ้นมานานราว 45 ปีแล้ว เป็นช่วงที่อิมามโคมัยนี นำการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน โค่นล้มระบอบปกครองของชาห์ปาเลวี เป็นช่วงที่ทำให้เหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง อิมามโคมัยนี ประณามอิสราเอลว่าเป็นรัฐที่แบ่งแยกสีผิว กีดกันความเท่าเทียมของมนุษย์ และสั่งตัดความช่วยเหลือที่ชาห์เคยช่วยอิสราเอลทั้งหมด ปิดสถานทูตในอิสราเอลเปลี่ยนมาตั้งสถานทูตในปาเลสไตน์ และยังมีการกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ทุกปี เป็น ‘วันอัลกุดส์สากล’

 

อิมามโคมัยนี เน้นย้ำเป็นธรรมนูญว่า ทุกคนต้องรู้ถึงบทบาทในการวางตัวกับอิสราเอล ตามที่อัล-กุรอานระบุไว้ว่า “เจ้าทั้งหลายอย่ายึดโยงเอาบรรดายะฮูดี-นัสรอนี เป็นมิตร” ดังนั้น ใครก็ตามที่ยึดโยงคนเหล่านี้เป็นมิตรก็แสดงว่าเป็นพวกเขา ดังเช่นที่ประเทศอาหรับหลายประเทศกำลังทำอยู่โดยเฉยเมยกับโองการในอัล-กุรอาน อิมามโคมัยนีได้กำหนดในรัฐธรรมนูญของประเทศอิหร่าน เป็นอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติอิสลาม ว่า อิหร่านจะต้องให้การสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ เพื่อที่จะให้เป็นอิสระจากอิสราเอล ทั้งยังมีการตั้งกองกำลังอัล-กุดส์ เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์ด้วย

 

อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทยกับต่างประเทศ รวมทั้งปาเลสไตน์ ว่า “ดูเหมือนเรามีความขี้ขลาด เห็นแก่ตัว คือ กลัวเสียผลประโยชน์ สิ่งนี้สะท้อนปัญหาว่า จริง ๆ คือความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความไม่รู้วิธีการ ไม่รู้พื้นที่ ไม่รู้สถานการณ์ ไม่รู้จะติดต่อใคร ความไม่รู้นี้ทำให้เราขี้ขลาด แม้แต่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติเราเอง ลองนึกภาพว่าตัวประกันคนไทยถูกจับไปจำนวนมาก มีคนตายด้วย อาจารย์วันนอร์นำเสนอไป แต่ไม่มีผู้แทนประเทศไทยพูดในเวทีสหประชาชาติ หรือเราจะไม่ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติตัวเองเลย”

 

“นี่เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยควรต้องทบทวนตัวเองอย่างหนัก ในสมัยอดีตเรามีความกล้าหาญ ที่จะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่านี้ ผมประดิษฐ์คำที่นำมาใช้ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ว่า ‘การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์’ ที่ประเทศไทยควรกำหนดเป็นนโยบายต่างประเทศใหม่ เพราะถ้าเราไม่เข้าไปแทรกแซง สภาพแวดล้อมก็จะส่งผลกระทบกับเราในที่สุด ข้อเสนอของผม คือ ให้ยกเลิกกรอบข้อตกลงด้านแรงงานไปก่อน ถือว่าเป็นการคว่ำบาตรทางแรงงาน เพราะในช่วงที่คนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน อิสราเอลสื่อสารออกมาคือ “ปราบฮามาสก่อนช่วยตัวประกันทีหลัง” สิ่งนี้แปลว่า เขาแคร์ผลประโยชน์ของเขามากกว่าความเดือดร้อนของเรา ยังมีอีกหลายประเทศที่แรงงานของเราสามารถไปทำงานได้อย่างปลอดภัย และถ้าหากแรงงานไทยตัดสินใจจะไปทำงานที่อิสราเอล ซึ่งมีการเตือนแล้วว่าอันตราย ก็ขอให้ถือว่าเป็นการออกไปโดยไม่ผ่านกรอบความตกลงของรัฐกับรัฐ

 

ประการต่อมา จากสภาพที่ตั้งและประวัติศาสตร์ ปัจจุบันไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานการทูตหลายชาติ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ สิ่งนี้เป็นจุดแข็งในการเป็นศูนย์รวม (Hub) ด้านการทูต ทำให้เราสามารถเล่นบทบาทเป็นพื้นที่กลางและอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยระหว่างนักการทูตทั้งหลายที่อาจจะขัดแย้งกัน แต่สิ่งที่จะต้องเป็นกติกา และจะต้องปรามอย่างเด็ดขาดไม่ให้เกิดขึ้น คือ กรณีอย่างขบวนแห่รถตุ๊กตุ๊ก อย่าใช้ไทยเป็นพื้นที่โจมตีซึ่งกันและกัน แต่ให้ใช้ไทยเป็นพื้นที่ที่จะแสวงหาข้อยุติระหว่างกัน นี่ต้องเป็นจุดยืนทางการทูตที่ชัดเจนแล้วไทยจะมีศักดิ์ศรีในเวทีโลกมากขึ้น และเป็นความหมายที่ถูกต้องของทฤษฎี “ซอฟต์พาวเวอร์”

 

ประการต่อมา ไทยเราควรจะส่งเสียงให้ดังขึ้นในเวทีสหประชาชาติ และกรอบพหุภาคีทั้งหลาย ด้วยการทำเรื่องที่สร้างสรรค์ เรื่องที่จะช่วยคลี่คลายความรุนแรงต่าง ๆ ในช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด ที่ผ่านมา มีการประชุมความร่วมมือประเทศสมาชิกอ่าวต่อประเด็นปาเลสไตน์ แต่อาเซียนเงียบ ไทยเราไม่เกาะประเด็น ทั้ง ๆ ที่ควรจะรวมอยู่ในนั้นเพื่อช่วยกดดันให้ช่วยคนไทยออกมา

 

เราควรลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากอิสราเอลและอเมริกา เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เคยเป็นจุดแข็งของอิสราเอล และในบริษัทจำนวนมาก ถูกจีนเทคโอเวอร์ไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ควรกระจายความสัมพันธ์ไปยังประเทศอื่น ๆ ได้แล้ว ดูจากที่สหรัฐ ฯ มีความตกต่ำทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากในปัจจุบัน และมีกลุ่ม BRICS ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวขึ้นมาแทน

 

ควรลดการพึ่งพาทางความมั่นคงและการทหารกับอิสราเอลอย่างค่อยเป็นค่อยไป หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศเราเอง โดยความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับประเทศที่เขาพร้อมจะมีความสัมพันธ์กับเราอย่างเท่าเทียม

 

ประการสุดท้าย ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเปิดสถานทูตที่ปาเลสไตน์ และให้ปาเลสไตน์มาเปิดสถานทูตในประเทศไทย จึงจะถือได้ว่า มีความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ และเมื่อถึงวันนั้นความสัมพันธ์ของเราจะมีการถ่วงดุลมากขึ้น กับทางฝั่งอิสราเอล”

 

อาจารย์มาโนช อารีย์ ย้ำว่า วันนี้นโยบายต่างประเทศของเรากำลังถูกจับจ้องว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่กำลังจะเปลี่ยนทิศทาง เพราะฉะนั้น ตัดสินใจให้ดี ว่า จะเดินหน้าในแบบไหน หรือว่าจะถอยกลับในแบบเดิม แล้ววางตัวเป็นมิตรกับทุกประเทศ พร้อมทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่แท้จริง “อย่างที่ผมเรียนว่า ท่านอาจจะบอกว่าท่านเป็นกลาง แต่ปัญหาคือ คนอื่นจากโลกภายนอกไม่ได้มองแบบนั้น เราพูดกันได้ว่าเราเป็นกลาง แต่เมื่อโลกไม่ได้มองเราแบบนั้น มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะนโยบายต่างประเทศคือการแสวงหาผลประโยชน์ข้างนอก อยากฝากให้คิดและตัดสินใจให้ดี”

 

ช่วงที่ 3 นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร, ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด (ซัยยิดมุบาร็อก) นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน และสัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชาห์ ที่ปรึกษานายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ทั้ง 3 ท่านอยู่ในเหตุการณ์ การเจรจาช่วยแรงงานไทย โดย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นตัวแทนของประธานรัฐสภา เดินทางไปยังกรุงเตหะราน พร้อมกับนายสัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชาห์ ที่ปรึกษานายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ในขณะที่ ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด อยู่ที่ประเทศอิหร่านแล้ว

 

ดร.เลอพงษ์ กล่าวถึงความมั่นใจในการเจรจาช่วยตัวประกันชาวไทยว่า “เนื่องจากเรามีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นพอสมควรกับทางการอิหร่าน รวมทั้งขบวนการต่อสู้ทั้งหมดในตะวันออกกลาง ไม่ใช่เฉพาะฮามาสเท่านั้น ส่วนมากนักศึกษาต่างประเทศก็จะมีความสัมพันธ์กับกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นสายต่อสู้ จะมีกิจกรรมร่วมกันเกี่ยวกับปาเลสไตน์อยู่แล้ว อีกทั้งอิหร่านจะมีกิจกรรมที่สนับสนุนเด็ก ๆ ให้เป็นพันธมิตรกับเด็กชาวปาเลสไตน์ เป็นการผูกมิตรในระดับเยาวชน ส่วนผู้ใหญ่และคนชรา ก็จะมีกิจกรรมในลักษณะการจัดงานที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ให้แน่นแฟ้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ อิหร่านจะไปสนับสนุนปาเลสไตน์ สิ่งนี้เริ่มในประชาชนทุกระดับก่อน รวมทั้งนักรบ IRGC ของอิหร่านก็จะมีความสัมพันธ์กับนักรบของปาเลสไตน์ เช่น มีการฝึกอาวุธร่วมกัน แต่นักศึกษาแบบเราจะอยู่ในสายวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ใด ๆ แต่อาจจะมีอยู่บ้างในเวทีเสวนาวิชาการ อาจจะไปเข้าค่าย อยู่ในโรงแรมเดียวกัน จะมีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมร่วมกันเป็นสาเหตุให้เรารู้จักกับกระบวนการต่อสู้ต่างๆ”

 

“ในประเทศไทยเรา นักรณรงค์หลายคนที่เคยจัดกิจกรรมสนับสนุนปาเลสไตน์ เป็นที่รู้จักในฝ่ายสื่อสารมวลชนของฮามาส เพราะเขาจะคอยติดตามข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ว่าจะมีใครบ้างที่ยืนเคียงข้างพวกเขาในประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปอเมริกา แอฟริกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดี และทำให้มั่นใจว่า จะเจรจากับฮามาสได้”

 

คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ กล่าวว่า เพราะเชื่อมั่นว่าสายสัมพันธ์เหนียวแน่นพอ ดังนั้น เมื่อท่านประธานรัฐสภามอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะไปเจรจา โดยมีดร.เลอพงษ์ ประสานอยู่ที่โน่น เขาจึงรับหน้าที่ด้วยความเต็มใจ “ผมเองต้องยอมรับว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ง่าย เพราะฮามาสเป็นนักรบ เราจะทำอย่างไรให้เขามีความเชื่อใจเรา ผมได้นำหลักฐานหลายอย่าง ที่เกี่ยวกับสายสัมพันธ์ เพื่อให้ทางฝ่ายอิหร่านเชื่อมั่นในตัวเรา แล้วก็ประสบความสำเร็จ พอไปคุยกับทางฮามาส เขาไม่ต้องการหลักฐานอะไรเลย และว่าสิ่งนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับเขา แต่สิ่งที่เขาต้องการ คือ ให้ตัวประกันชาวไทยพูดความจริงให้โลกรู้ ว่า อยู่กับพวกเขามีสภาพเป็นอย่างไร และเขายังฝากเตือนรัฐบาลไทยว่า อย่ายอมให้คนไทยไปทำงานในพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่พิพาท เป็นพื้นที่ที่อิสราเอลยึดไปจากพวกเขา ผลิตผลที่ทำขึ้นมาก็เป็นของโจร ถ้าใครไปทำงานในพื้นทีนั้นก็เท่ากับทำงานให้โจร รับเงินของโจร”

 

“เราเป็นทีมเจรจาภาคประชาชน ไปถึงเตหะราน รอไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เข้าพบ ท่านที่ปรึกษาประธานาธิบดี ทั้ง ๆ ที่ท่านมีธุระยุ่งมาก ได้คุยกันถึง 2 ชั่วโมง ในขณะที่มีโทรศัพท์รายงานสถานการณ์มายังท่านตลอดเวลา ถือว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูง กลับกันกับที่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่เป็นคณะของรัฐบาลไปเจรจาที่กาตาร์ แต่ไม่สามารถพบกับใครได้เลยทั้งในระดับผู้นำ และรองผู้นำฮามาส แต่น่าเสียใจตรงที่ คนงานไทยถูกจับใส่เสื้อมีภาพธงชาติไทย-อิสราเอล และมีป้ายโลหะห้อยคอ มีข้อความ “ช่วยตัวประกันกลับบ้านเดี๋ยวนี้” ทำให้ประเทศต่าง ๆ คิดว่าเป็นผลงานของรัฐบาล และคนงานก็ไม่พูดในทางที่ดีให้กับฮามาส

 

ซัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชาห์ กล่าวว่า เป็นภารกิจที่มีความภูมิใจอย่างมาก ที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านประธานรัฐสภา เพื่อไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือตัวประกัน “ผมเป็นทีมเจรจาเพื่อเสริมน้ำหนักให้หนักแน่นขึ้น เป็นผู้ประสานงานทั้งหมด และเสริมในประเด็นต่าง ๆ รหัสสำคัญของความสำเร็จนี้มี 3 อย่าง คือ ความเป็นมุสลิม ความเป็นเอกภาพระหว่างพี่น้องซุนนีย์-ชีอะห์ ในการร่วมทำภารกิจนี้ ข้อสุดท้าย คือ การรวมพลังความเป็นมุสลิมซุนนีย์-ชีอะห์ เพื่อมาปลดปล่อยพี่น้องชาวไทยพุทธ สิ่งนี้ทำให้รู้สึกงง เซอร์ไพรส์ และแฮปปี้มาก”

 

ดร.เลอพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า ‘ใครก็ตามที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วเขาไม่ได้นึกถึงปัญหาของโลกอิสลาม เขาไม่ใช่ประชาชาติของฉัน’ ดังนั้น ปาเลสไตน์ คือ มุสลิม เราไม่ได้แยกแยะระหว่างซุนนีย์-ชีอะฮ์ ถือว่ามุสลิมทั้งหลายเป็นพี่-น้องกัน ทุกอย่างของเราทุกวันนี้ก็คือ ปาเลสไตน์ มุสลิมทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จะต้องร่วมมือกันเพื่อตัดแข้งตัดขาของรัฐเถื่อนอิสราเอล เพราะการครอบครองดินแดนของพวกเขามาจากการปล้นสะดมแล้วเอามาตั้งประเทศ ทุกอย่างได้มาด้วยความอยุติธรรม และได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ ขบวนการต่อต้านที่เกิดขึ้นก็เพื่อต่อสู้ เพื่อปกป้องอธิปไตย ปกป้องบ้านเรือนของพวกเขา แม้จะรู้ว่าด้อยกว่าทุกทางก็ตาม แต่พวกเขาสู้ด้วยหัวใจที่มั่นคงในพระเจ้า และมั่นใจว่าพระเจ้าจะอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป”

 

การเสวนาวิชาการครั้งนี้ มีบุคคลระดับแกนนำ นักการเมืองมุสลิม และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของไทยเข้าร่วมกว่า 30 คน โดยมีชาวไทยศาสนาต่าง ๆ ที่สนใจประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน เข้าร่วมรับฟังเกือบ 400 คน ในขณะที่ชาวไทยอีกจำนวนหนึ่ง รับชมการถ่ายทอดสดที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์