Inside Asia
Home   /   Inside Asia  /   รู้ก่อนพลาด กลุ่มธุรกิจใดบ้างที่ชาวต่างชาติห้ามทำในลาว

 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่ง สปป. ลาวออกประกาศ 6 กลุ่มธุรกิจที่ลาวห้ามต่างชาติทำ


             สำนักข่าวอะลามี่: ‘ลาว’ กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงไทยสนใจอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการไม่น้อยที่มองเห็นโอกาสช่องทางการลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ช้าก่อน เนื่องจาก ลาว เป็นประเทศที่มีอาชีพสงวนไว้ให้เฉพาะคนลาวเท่านั้นที่ประกอบอาชีพได้เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำอาชีพบางประเภท


             โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่ง สปป. ลาว ได้ให้เหตุผลของการออกประกาศในเรื่องอาชีพสงวนสำหรับคนลาวไว้ว่า เพื่อป้องกันสิทธิประโยชน์ หรือ กิจการที่จำเป็นสำหรับประกอบอาชีพคนลาวได้มีงาน และรายได้เลี้ยงชีพพื้นฐาน เป็นลักษณะของกิจการที่ไม่สลับซับซ้อน หรือกิจการที่คนลาวมีความถนัด

             ในประกาศฉบับดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ยังระบุอีกว่า การถือครองหุ้นโดยชาวต่างชาติเพียงหุ้นเดียว ก็ทำให้บริษัทนั้นเป็นบริษัทต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎหมายเฉพาะเป็นกรณี ๆ ซึ่งในกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจของลาวที่เป็นกฎหมายในการจัดตั้งนิติบุคคล เพื่อประกอบกิจการใด ๆ ใน ลาว ไม่มีการระบุเรื่องเกณฑ์ที่แตกต่างระหว่างบริษัทสัญชาติลาวกับบริษัทต่างชาติ กฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจอาจไม่มีการระบุข้อแตกต่างระหว่างบริษัทสัญชาติลาวกับบริษัทต่างชาติ แต่ก็ไม่ค่อยมีผลต่อสิทธิประโยชน์ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ระหว่างบริษัทสัญชาติลาวกับบริษัทต่างชาติไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก

           สำหรับธุรกิจและอาชีพที่ถูกสงวนไว้ให้เฉพาะคนลาวเท่านั้น อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจหนังสือพิมพ์ ธุรกิจการผลิตรายการทางวิทยุ เป็นต้น ด้านการตั้งธุรกิจก็อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไข หรือ ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นจาก การประกอบธุรกิจโดยพลเมืองลาว อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ที่มีการจำกัดประเภทของสินค้าที่สามารถนำมาค้าส่งได้

          นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง หรือที่เรียกกันว่า “ธุรกิจการค้าขายยกและการค้าขายย่อย” ในภาษาลาว ที่ทางรัฐบาลลาวเห็นควรสงวนไว้ให้เฉพาะคนลาว และมีการออกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องธุรกิจค้าขายยกและการค้าขายย่อย และจำกัดให้เฉพาะพลเมืองลาว เท่านั้นที่สามารถประกอบธุรกิจค้าปลีกได้ แต่ก็ยังมีการกำหนดเงื่อนไขและ ข้อจำกัดในการประกอบ ธุรกิจค้าส่งโดยผู้ลงทุนต่างชาติ โดยให้ผู้ลงทุนต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจค้าส่งจำเป็นต้องเข้าร่วมทุนกับ ผู้ลงทุนพลเมืองลาว ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติสามารถถือทุนตามสัดส่วนทุนที่ลงเพียงไม่เกินร้อยละ 49 ของทุน จดทะเบียนบริษัท และสามารถดำเนินกิจการขายส่งได้เฉพาะสินค้าบางประเภท

           สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจค้าส่งที่เป็นชาวต่างชาตินั้น จะทำในลักษณะร่วมทุนกับชาวลาว และสามารถประกอบสินค้าขายส่งได้เฉพาะสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ส่วนค้าปลีกนั้นถูกสงวนไว้ให้กับพลเมืองลาวเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยต้องทำการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย หรือ แฟรนไชส์ โดยเจ้าของร้านค้าตัวแทนจำหน่ายนี้ จะต้องเป็นพลเมืองลาว และอาศัยอยู่ในลาว

           ข้อห้ามเด็ดขาดไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจให้ผู้ลงทุนต่างชาติ หรือบริษัทต่างชาติประกอบดำเนินธุรกิจในบัญชี (ก-1) ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ระบุให้ถือได้ว่าเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนลาวโดยเฉพาะ โดยที่ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนวิสาหกิจนั้นหากพบว่ารายการประเภทธุรกิจใดมีลักษณะคลุมเครือหรือจำแนกยาก ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าถือเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนลาวหรือไม่นั้น ให้มีการทำหนังสือหรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตกลงกันในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการอนุญาตหรือปฏิเสธการขึ้นทะเบียนวิสาหกิจให้กับผู้ลงทุนต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติในรายการประเภทธุรกิจที่มีลักษณะคลุมเครือนั้น ๆ

             ประเภทธุรกิจที่สงวนไว้ให้เป็นอาชีพสำหรับคนลาวที่ประกาศในบัญชีบัญชี (ก) มีรายละเอียดพอสังเขปว่า
            1.พลังงานและบ่อแร่:การขุดค้นแร่ธาตุแบบหัตถกรรม การขุดค้นแร่หิน อุตสาหกรรม เป็นต้น
            2.อุตสาหกรรมและการค้า:การทอผ้า เป็นต้น
           3.โยธาธิการและขนส่ง:อาชีพคนขับรถขนส่งสินค้า หรือขับรถโดยสาร อาชีพนายช่างและกรรมกรก่อสร้าง อาชีพการออกแบบสถาปัตยกรรมลาว ธุรกิจโกดังสินค้า การขนส่งโดยสารระหว่างประเทศ สถานีรถ ขนส่งโดยสาร เป็นต้น

           4.แถลงข่าววัฒนธรรมและการท่องเที่ยว : การผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ การตั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ สำนักพิมพ์ ห้องอัดแผ่นเสียง ห้องคาราโอเกะ โรงแรม หรือรีสอร์ท ระดับต่ำกว่าสามดาว อาชีพช่างเสริมสวย ช่างตัดผม พนักงานนำเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวภายใน เป็นต้น
          5.ธนาคารแห่งสปป. ลาว:การสร้างสถาบันการเงินจุลภาคที่รับฝากเงิน การสร้าง สถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับฝากเงิน การตั้งสหกรณ์สินเชื่อ และเงินฝากประหยัด เป็นต้น
          6.สาธารณสุข:การขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นยา การถือทะเบียน วิชาชีพดำเนินธุรกิจการแพทย์-การยาพื้นเมือง การถือทะเบียน วิชาชีพดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตยา บริษัทการยา อุปกรณ์การ แพทย์ สาขา จำหน่ายและร้านขายยาย่อย รวมถึงอาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ แพทย์แผนโบราณ เป็นต้น

ขอบคุณ :  ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อีเมล: AECconnect@bbl.co.th สายด่วน 1333
ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/article/10546