Inside Asia
Home   /   Inside Asia  /   สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านที่ควรรู้จัก(ตอนที่ 1)

สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านที่ควรรู้จัก(ตอนที่ 1)

โดย ศ. (กิตติมาศักดิ์ )ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

         ศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย  วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

                สำนักข่าวอะลามี่ :  อิหร่านหรือเปอร์เซีย เป็นอาณาจักรเก่าแก่ และเจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการและอารยธรรมมายาวนานกว่า 3,000 ปี ในสมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช ทรงถูกขนานนามว่าจักรพรรดิสามทวีป เพราะอาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมตั้งแต่แอฟริกาเหนือ ยุโรปบางส่วน และเอเชียที่กว้างไกลถึงแม่น้ำสินธุเปอร์เซีย ถือเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง

                จักรวรรดิมีเดี่ยน ราชวงศ์อาคาเมนิด (Achaemenid, 550-333 BCE) ได้รับการยกย่องว่าเป็นจักรวรรดิที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ ครอบครองพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่ด้านทิศตะวันตก คลุมพื้นที่อนาโตเลีย คือ เอเชียตะวันตก กินพื้นที่ตุรกีทั้งหมด ล้อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านบนคลุมปากแม่น้ำดานูบของโรเมเนีย บัลแกเรีย จรดกรีก ครอบครองหมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และคลุมลงมาด้านล่าง กินพื้นที่อียิปต์ และลิเบีย ส่วนด้านบนไปจนถึงตะวันออก กินพื้นที่กว่าครึ่งของทะเลแคสเปียน จรดทะเลอารัล ครอบคลุมเตอร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน จรดอินเดียที่แม่น้ำอินดุส

                ความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ผนวกกับความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและทางด้านภาษา จึงทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่าง ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมจะมีความเด่นกันไปคนละอย่าง  ชนชาติเปอร์เซียเดิมที่รู้จักกันว่าพวกเขานับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ นับถือเทพพระเจ้าสูงสุด อะฮุลา มาสดา พวกเขารังเกียจการพูดเท็จและการทำผิด และยังเคารพความเชื่อทางศาสนาของบุคคลอื่น  โดยมีเสรีภาพทางด้านศาสนามาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว

             สมัยเมื่อชาวอาหรับพิชิตอิหร่านทำให้ประชาชนส่วนมากหันเข้ารับศาสนาอิสลาม และประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังยึดถือศาสนาดั้งเดิมของพวกเขา และก็พากันอพยพไปอยู่ในประเทศอินเดีย ส่วนประชาชนที่ยังนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ที่อาศัยอยู่เมืองยัซด์ได้ตัดสินใจนับถือศาสนาเดิมของพวกเขาและยอมจ่ายภาษีพิเศษเป็นการทดแทน

                การเผยแพร่ศาสนาอิสลามในอิหร่าน มิได้เป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องเปลี่ยนภาษาพื้นเมืองของพวกเขาไปพูดภาษาอาหรับ เมื่อพวกเขาได้ยอมรับศาสนาอิสลาม แต่ในอิหร่าน ประชาชนยังพูด ภาษาดะฮ์รี และภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเป็นภาษาของชาวอิหร่านอย่างกว้างขวาง

               และแม้ว่าปราชญ์บางคนของชาวอิหร่านที่ได้เรียนรู้ภาษาอาหรับระดับสูง จนสามารถเขียนตำราเป็นภาษาอาหรับ เขียนคู่มือว่าด้วยไวยากรณ์ภาษาอาหรับ และปทานุกรมภาษาอาหรับก็ตาม พวกเขายังพูดและสนทนาภาษาเปอร์เซียอยู่ เช่น ท่านซีบูวัยฮ์ ท่านฟีรุซ ซาบอดีและคนอื่นๆ ที่มีความชำนาญด้านวิชานิรุกติศาสตร์ และไวยากรณ์ภาษาอาหรับอย่างน่าพิสดาร

               ต่อมาอิหร่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปฏิวัติอิสลาม โดยอิหม่ามโคมัยนี เป็นผู้นำขบวนการปฏิวัติของประชาชนและนักศึกษา ล้มล้างการปกครองแบบเผด็จการของกษัตริย์ชาร์ปาเลวี จวบจนปัจจุบันเวลาก็ล่วงเลยมามากกว่าสามสิบปี “ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นสาธารณรัฐ อิสลาม (Islamic Republic) เป็นการปกครองในระบอบอิสลาม (Islamic State)

                ซึ่งฐานความคิดของระบอบการปกครองนั้น ผ่านการกลั่นกรองอย่างตกผลึกตามหลักคิดทางปรัชญาการเมืองอิสลาม และผู้ที่วางรากฐานของระบอบการปกครองในประเทศอิหร่านเมื่อ ๓๗ ปีก่อนนั้น คือ ท่านอะยาตุลลอฮ์ อิมามโคมัยนี โดยยึดหลักระบอบการปกครองอิสลาม ระบอบปราชญาธิปไตย (Wilayatol-Faqi)

              อิหร่านได้จัดระบอบโครงสร้างทางการเมืองและการปกครอง โดยยึดระบอบการปกครองอิสลาม อันมีราชาปราชญ์เป็นประมุขหรือเรียกว่า ระบอบปราชญาธิปไตยโดยมีรูปแบบเป็นระบบรัฐสภา อันมีประธานาธิบดี (President) และรัฐสภา (Parliament) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (Electorate) และ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐสภา

               สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านมีสถาบันสูงสุด คือ สถาบันแห่งประมุขสูงสุด (Supreme Leader) เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำรัฐและเป็นผู้ปกครองที่อยู่ในฐานะราชาปราชญ์ ซึ่งเป็นผู้รับรองผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และยังมีอำนาจแต่งตั้งสถาบันสำคัญอื่นๆ คือกองทัพ (Military)  ประมุขฝ่ายตุลาการ (Head of Judiciary) และ ( Expediency council) สภาพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา และสภาผู้ชี้นำ (Guardian council) หรือแม้แต่สภาอีกสภาหนึ่งคือสภาผู้ชำนาญการ (Assembly of experts)

               โครงสร้างหรือระบบการเมืองของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปี 1979  ประกอบด้วยสถาบันการเมืองตามระบอบอิสลาม อันมีราชาปราชญ์เป็นประมุข หรือเรียกตามหลักรัฐศาสตร์อิสลาม คือระบอบวิลายะตุลฟะกี (ปราชญาธิปไตย) โดยมีราชาปราชญ์เป็นประมุขสูงสุด (Supreme Leader) เป็นผู้ควบคุมและดูแลโครงสร้างของการกำหนดแนวนโยบายทั่วไป ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และถือว่ารัฐธรรมนูญทุกมาตรานั้นถูกวินิจฉัย ที่มีโครงสร้างมาจากหลักอิสลาม จึงเรียกรัฐธรรมนูญนี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญแห่งอิสลาม

                มาตรา ๔  ได้กล่าวถึงกฎหมายที่ถูกตราขึ้นว่า ประมวลกฎหมายทั้งหมด ทั้งกฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายการคลัง การเศรษฐกิจ กฎหมายการบริหารการปกครอง วัฒนธรรม การทหาร  การเมือง ตลอดทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีแหล่งที่มาซึ่งวางอยู่บนหลักการแห่งบทบัญญัติอิสลาม มาตรานี้ย่อมมีอำนาจควบคุมสูงสุดและอย่างกว้างขวางไปถึงมาตราอื่นๆ ทั้งหมดแห่งรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับหลักการและระเบียบกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่จำต้องตัดสินโดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาและวินิจฉัย ให้เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ของสภาพิทักษ์ฯ

               และอำนาจการปกครองของประมุขสูงสุดนั้น เป็นหน้าที่ของบุคคลที่อยู่ในฐานะราชาปราชญ์ เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัด เป็นผู้ทรงธรรมและยุติธรรม  ดังรัฐธรรมนูญกล่าวไว้

              มาตรา ๕ (รัฐธรรมนูญ) ในช่วงเวลาที่อิมามท่านที่สิบสอง (อิมามมะฮ์ดี) อยู่ในสภาพที่เร้นกาย  สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน จะอยู่ภายใต้การปกครองและการชี้นำ โดยความรับผิดชอบของนักการศาสนา ผู้เป็นปราชญ์สูงสุด มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ทรงคุณธรรมและยุติธรรม รู้รอบต่อสถานการณ์แห่งยุคสมัย เป็นผู้มีความกล้าหาญพร้อมด้วยความสามารถในการจัดการ อยู่ในฐานะเป็นราชาแห่งปราชญ์ (วิลายะตุลฟะกีย์) ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักและยอมรับให้เป็นผู้นำ

          มาตราที่ ๑๐๗  เมื่อใดที่นักการศาสนา อยู่ในฐานะปราชญ์ ที่มีคุณสมบัติครบเงื่อนไขต่างๆ ตามมาตรา ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลนั้นจะเป็นผู้นำอยู่ในฐานะผู้ทรงอำนาจสูงสุด และเป็นราชาปราชญ์  เป็นผู้นำแห่งการปฏิวัติ เหมือนอย่างท่าน อายาตุลลอฮ์ อิมามโคมัยนี ถือว่าเป็นประมุขสูงสุด มีความศักดิ์สิทธิ์ในการออกคำสั่งและมีความรับผิดชอบทั้งมวล

           อิหร่านได้โอบอุ้มวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทีวางอยู่บนคุณค่าแห่งอุดมคติ ศีลธรรม  ศาสนาและศิลปะ  ยิ่งกว่านั้นอารยธรรมนี้ยังได้ประดับประดาตกแต่งด้วยคุณค่าทางจริยธรรม และวิทยาการอันดีเด่นอีกโสตหนึ่งทีเดียว กอปรกับได้ทิ้งร่องรอยความละเมียดละไมและวิจิตรประณีตทางด้านงานศิลปกรรมที่แฝงเร้นด้วยปรัชญาขั้นสูง จนกระทั้งมิติแง่มุมด้านต่างๆ ที่นับว่าเป็นความเพียรพยายามที่จะทำให้อารยธรรมยิ่งใหญ่นี้ เป็นที่ถูกรู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและปัญญาชน

           และนับเป็นความจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นและสืบค้นหาวัฒนธรรมอันวิจิตรและงดงามของอิหร่าน เพื่อที่จะให้เกิดพลังทางความคิด และพลวัตรทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และจะได้สืบสานเจตนารมณ์นี้ต่อไป

(ติดตามตอนต่อไป)