Education
Home   /   Education  /   เรียนต่อมาเลเซียกับโอกาสในยุคประชาคมอาเซียน

คอลัมน์ เปิดโลกการศึกษามุสลิม /

ตอนเรียนต่อมาเลเซียกับโอกาสในยุคประชาคมอาเซียน

โดย  นันทสินี หมวดมณี

       หัวหน้าฝ่ายการตลาดมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย

++++++++++++

 

          จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ามีคณะคนไทยหลั่งไหลมา มาเลเซีย จำนวนไม่น้อยและดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนนี้ บ้างก็มาดูงาน บ้างก็มาเที่ยว

          แต่ช่วงเวลา 7 ปี ที่ดิฉัน มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่ในวงการการศึกษาของมาเลเซีย ทำให้ได้รับทราบข้อมูล เรื่องราวน่าสนใจ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ หรือเพื่อเป็นแนวทาง สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน ที่หลายคนกำลังงงว่า แล้วมัน จะยังไงต่อไป

            สังเกตกลุ่มคนไทยที่หลั่งไหลมามาเลเซีย ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยไม่น้อยที่เข้ามาเพราะเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และ ในจำนวนนั้นมีเด็กไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในทางเลือกที่แตกต่าง และมองว่าคุ้มค่ากับงบประมาณและเวลา กับการใช้ชีวิตในมาเลเซีย

            นักศึกษาที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนต่อในประเทศมาเลเซียหลายคนพบว่าโอกาสในการได้งานทำในประเทศมาเลเซียยังมีอยู่มาก นอกจากนั้นอัตราค่าจ้างสำหรับบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ยังสูงกว่าอัตราว่าจ้างบัณฑิตจบใหม่ในประเทศไทย

            ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ในประเทศมาเลเซียจำนวน 1,930 คน ในจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในมาเลเซียเกือบ 100,000 คน (ข้อมูล ณ เดือน มกราคม2556)

           โดยนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในมาเลเซียมาจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งกลุ่มใหญ่เป็นนักศึกษาจากประเทศจีนอินโดนีเซีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา ในขณะที่นักศึกษาจากประเทศแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย นิยมมามาเลเซียผ่านโปรแกรมนักศึกษาแลกเปลี่ยน

            ส่วนนักศึกษาจากเกาหลี ซึ่งมีสถิติเข้ามามาเลเซียปีละเกือบสองหมื่นคน นิยมมาเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

            แม้ว่าเหตุผลในการเลือกมาเรียนมาเลเซียอาจแตกต่างกันไปตามทรรศนะและที่มา แต่หากแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็จะพบว่านักศึกษาไทยมุสลิมจากจังหวัดทางภาคใต้ เลือกมาเรียนมาเลเซียเพราะรู้สึกคุ้นเคย และใกล้ชิดกับวัฒนธรรมภาษาและศาสนา

            อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำงานในประเทศมาเลเซียหลังเรียนจบ ซึ่งข้อดีก็คืออัตราค่าจ้างที่สูงกว่าในประเทศไทยถึงเกือบสามเท่า

            ในขณะที่นักศึกษาไทยจากกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ เห็นว่าการเรียนต่อที่มาเลเซียเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าราคาไม่แพง และยังสร้างจุดเด่นให้กับตัวเอง เพื่อเข้าสู่ตลาดงานในอนาคต

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนตุลาคม 2556