Education
Home   /   Education  /   รอมฎอนกับการสร้างจิตสำนึกที่ดี

รอมฎอนกับการสร้างจิตสำนึกที่ดี

โดย  อาจารย์สมศักดิ์ (มูนีร)  มูหะหมัด

        ผู้อำนวยการฝ่ายอิสลามศึกษา

        วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++

            สำนักข่าวอะลามี่ : ธรรมชาติของมนุษย์คือการใช้ชีวิตแบบสังคม สิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตของมนุษย์จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุขสงบ  สันติ  จึงทำให้นักวิชาการหลายคน  ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมวิทยา  นักปรัชญา นักจิตวิทยา  และนักวิชาการสาขาต่าง ๆ พยายามค้นหาปัจจัยที่นำให้มนุษย์ได้รับความสันติสุข  ในที่สุดทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสันติสุขคือ จำเป็นจะต้องปลูกฝังให้เขาเหล่านั้นมีจิตสำนึกที่ดี

            คำถามที่หลายคนต้องการคำตอบคือ จิตสำนึกที่ดีคืออะไร? จิตสำนึกเป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ ภาระรับผิดชอบ และการทำงาน  ดังที่เราได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยครั้ง เช่น จิตสำนึกของความเป็นครู จิตสำนึกของการเป็นพลเมืองดี  การมีจิตสาธารณะ จิตสำนึกของการเป็นคนดี  จิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้น จิตสำนึกจึงเกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคล คำพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการของสังคมและองค์กรให้สมาชิกและผู้ร่วมงานมีจิตสำนึกที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่  มีจริยธรรมในการปฏิบัติงาน  มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย ช่วยเหลือเกื้อกูล มีเมตตาธรรมกรุณาธรรม  มีความอดทน เศรษฐกิจพอเพียง มีความเสียสละ  รู้จักให้อภัย

            การที่บุคคลจะมีคุณธรรม  มีจิตสำนึกที่ดี  จำเป็นจะต้องมีการอบรมสั่งสอนหรือซึมซับประสบการณ์จากศาสนา  ครอบครัวที่ดี และสังคมโดยรอบที่ดี และผ่านกระบวนการทำความดีจนติดเป็นนิสัย  การที่จะทำให้จิตสำนึกเกิดขึ้นเองย่อมเป็นไปได้ยาก

            ศาสนาอิสลามมุ่งมั่นให้ผู้นับถือศาสนานี้และประชาชนทั่วไป  โดยเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม  ดังจะเห็นได้ว่า  โครงสร้างของศาสนาอิสลามมี 3 ประการ คือ การศรัทธาซึ่งเป็นการเชื่อมันภายในหัวใจ  ศาสนบัญญัติ เป็นการปฏิบัติตามกฎบัญญัติ  เพื่อเป็นการเคารพภักดีและรักษาระเบียบวินัย  คุณธรรม เป็นการตระหนักมั่นในการทำความดี หลักทั้ง 3  ประการนี้มีความผูกพันกัน  ดังจะเห็นได้จากศาสนบัญญัติประการต่าง ๆ เช่น การละหมาด  การจ่ายซะกาต  การถือศีลอด  การประกอบพิธีฮัจญ์  นอกจากจะต้องปฏิบัติโดยถูกต้องตามบัญญัติแล้วจะต้องมีผลทางด้านจริยธรรมด้วย

            พระองค์อัลลอฮ์ตรัสถึงเป้าหมายของการถือศีลอดไว้ว่า “เพื่อสูเจ้าทั้งหลายจะยำเกรง”   อัลบะกอเราะฮ์ / 183 เป้าหมายของอายะฮ์นี้คือ  การถือศีลอดมิใช่เป็นเพียงการอดอาหาร  เครื่องดื่ม  การข้องแวะทางเพศในช่วงระยะเวลาที่ถือศีลอดเท่านั้น  หากแต่ผลของการถือศีลอดจะต้องสะท้อนออกถึงผลทางจริยธรรมด้วย กล่าวคือ

           1 – ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองระหว่างการถือศีลอด ภายใต้การกำกับของพระองค์อัลลอฮ์  ทั้งที่ลับและที่เปิดเผย  เพราะว่า  ระหว่างการถือศีลอด เขาสามารถที่จะแอบดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ขณะอยู่ตามลำพัง แต่ด้วยความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและการกำกับของพระองค์อัลลอฮ์ศุบห์ฯ ทำให้เขาระงับที่จะละเมิดบัญญัติการถือศีลอด  ด้วยสภาพเช่นนี้จึงเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้บุคคลมีความซื่อสัตย์ในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ฉ้อฉล บิดพลิ้ว ตบัดสัตย์ คดโกงต่อบริษัทและองค์กร ทำให้สามารถยกระดับจริยธรรมของบุคคลให้สูงขึ้น และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่เขา

           2 –ความรับผิดชอบ  การถือศีลอดฝึกหัดให้บุคคลมีคามรับผิดชอบ รักษาเวลา  เพราะการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของศาสนาอิสลามค่อนข้างนานถึงหนึ่งเดือน  กำหนดเวลามีความแน่นอน  มีบัญญัติค่อนข้างเข้มงวด  ผู้ใดสามารถผ่านการทดสอบจากการถือศีลอดได้ จะทำให้เขาสามารถใช้ประโยชน์ไปในการสร้างจิดสำนึกต่อการมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการรักษาเวลาและการตรงต่อเวลาด้วย

            3 – ความอดทน  ประโยชน์ประการหนึ่งที่ได้จากการถือศีลอดคือ การปลูกฝังความอดทนให้แก่บุคคลในการเผชิญต่อปัญหาและอุปสรรคในการดำรงชีวิตหรือปัญหาอื่นใดที่ถาถมเข้ามาในชีวิต  พร้อมกับหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยสันติวิธี  โดยวิธีที่ถูกต้องชอบธรรม  มิใช่ด้วยการใช้วิธีทุจริตหรือวิธีที่ชั่วร้ายขณะเดียวกันการถือศีลอดสั่งสอนให้บุคคลมีความอดกลั้น ควบคุมรารมณ์มีให้แสดงความโมโหฉุนเฉียวระงับจิตใจมิให้ฟุ้งซ่าน  ขจัดความวิตกจริตอันอาจจะเกิดขึ้น  บัญญัติอิสลามกำหนดให้บุคคลต้องถือศีลอดเมื่อเขาบรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมประชัญญะ จึงเท่ากันเป็นการหล่อหลอมจิตสำนึกที่ดีให้บุคคลรู้จักความอดทนตั้งแต่เยาวัย

            4 – เศรษฐกิจพอเพียง  อิสลามใช้ให้บรรดามุสลิมมีความประหยัดในการใช้จ่าย โดยให้บัญญัติการถือศีลอดให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ  จากการรับประทานอาหาร  3  มื้อ  และรับประทานของจุกจิกเกือบตลอดวันมาเป็นการรับประทานอาหารเพียง 2 มื้อ พร้อมกับงดการบริโภคสิ่งอื่นระหว่างมื้ออาหาร  การถือศีลอดจึงเป็นการสร้างวินัยในการใช้จ่าย  สร้างวินัยในการรับประทานอาหาร  จะนำมาซึ่งการดูแลสุขอนามัยให้แก่ตัวเอง  ไม่เป็นโรคอันเกิดจากการรับประทานอาหาร  เช่น  โรคอ้วน  โรคไขมัน  โรคเบาหวาน  เป็นต้น และไม่ใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางที่ไร้ประโยชน์  พระองค์อัลลอฮ์ ศุบห์ฯ ตรัสว่า

           “และสูเจ้าทั้งหลายจงกิน จงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงรักบรรดาผู้ฟุ่มเฟือย” อัล อะอ์ร้อฟ/31

           5 – การช่วยเหลือเกื้อกูล  การถือศีลอดมิได้มีเป้าหมายให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสความหิวโหยแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น  หากแต่จำเป็นจะต้องสะท้อนออกให้เป็นสภาพความทุกข์ยากของบรรดาผู้ด้อยฐานะว่าเขาเหล่านั้นต้องลิ้มรสความหิวโหยอย่างไร  ในเมื่อเขารู้ซึ้งถึงความหิวโหยดังกล่าวความรู้สึกภายในจิตใจของเขาที่แสดงออกคือ  การมีความรู้สึกร่วมกับความหิวโหยของบรรดาผู้ด้วยฐานะเหล่านั้น  ทำให้จิตใจมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาจึงนำมาซี่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูล การโอบอ้อมอารีย์  แบ่งสรรส่วนหนึ่งจากสิ่งที่มีอยู่ให้แก่พวกเขา  เพื่อแสดงออกถึงการมีน้ำใจและความเป็นพี่น้องร่วมสังคมมนุษย์ด้วยกัน

           6 – การให้อภัยกัน  วิสัยของมนุษย์ทั่วไปมีการปฏิบัติถูกต้อง แต่ก็ไม่บริสุทธิ์จากความผิดพลาด  ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  บางครั้งก็เป็นส่วนเฉพาะตัวเอง  และบางครั้งความผิดพลาดเป็นการคุกคามต่อผู้อื่น เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการประกอบความดี การสร้างความสันติสุข  สร้างความสามัคคีปรองดองกัน  ส่วนหนึ่งจากปัจจัยที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็คือ การขจัดข้อขัดแย้ง  กรณีพิพาท  และความไม่เข้าใจกัน  โดยการหาทางประนีประนอม  การให้อภัย  บรรดามุสลิมจะใช้ช่วงเดือนรอมฎอนในการปฏิบัติความดีร่วมกัน  ปรับความเข้าใจกัน  อันเป็นมูลเหตุนำสังคมสู่ความผาสุข

          สังคมจะมีความสันติสุข  มีความอบอุ่น  มีความสามัคคีปรองดองได้ สมาชิกในสังคมจะต้องมีจิตสำนึกที่ดี  ดังนั้น  จึงสมควรที่เราจะฉวยโอกาสในช่วงเดือนรอมฎอนนี้สร้างจิตสำนึกที่ดีกันเถิด