Halal Focus
Home   /   Halal Focus  /   ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย

สัมภาษณ์พิเศษ : ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กับมุมมอง 4 วาระหลักของสังคมมุสลิม ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนร่วมกับสังคมไทย
ตอน: ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย


โดย เอกราช มูเก็ม
       บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร อะลามี

++++++++++++++++

             “ ทั้งนี้เครื่องหมายฮาลาลทั่วไปเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่พี่น้องมุสลิมจะสามารถนำไปใช้ได้
               ซึ่งรวมถึงการนำเครื่องหมายพระนามอัลเลาะห์ และนบีมูฮัมหมัด หรือบิสมิลละห์ แสดงให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาล ซึ่งเคยใช้กันมาในอดีต
              แต่จะสร้างความน่าเชื่อถือกับนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคหรือไม่มากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ”
+++++++++++++++++

               อ่านมุมมองของ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม(CMP) กับบทบาทการทำงานและการขับเคลื่อนขององค์กรมุสลิม ในอดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต เราจะขับเคลื่อนกันอย่างไร โดยมีวาระหลัก 4 เรื่อง ประกอบด้วย มิติระบบการศึกษา ระบบซะกาต  ระบบอุตสาหกรรมฮาลาล และเรื่องการเงินการธนาคารอิสลาม

               ตอนที่ 3 : ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย

              ปัจจุบันเรื่องของฮาลาลมีการตื่นตัวกันมาก ทั้งนี้ “ฮาลาล” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนซึ่งจะต้องแยกออกจากกัน ส่วนแรก คือการออกเครื่องหมายรับรอง ซึ่งในทางของเศรษฐศาสตร์จะอยู่ในภาคการบริการ ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอาหาร ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ

              อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามองได้ว่าองค์กรศาสนาทำเรื่องฮาลาลประสบความสำเร็จ เพราะได้ทำให้สังคมไทยตื่นตัวกับความหมายและคุณค่าของเครื่องหมายฮาลาล แต่กระนั้นความสำเร็จที่ทำให้คนมาขอเครื่องหมายฮาลาลมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นความสำเร็จในการพัฒนาด้านการผลิตในอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรม จะต้องรวมถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้ ทั้งคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสามารถส่งออกไปในตลาดโลก

               “ ปัจจุบันมีจำนวนผลิตภัณฑ์ ที่ขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลเพิ่มขึ้น เป็นปีละกว่าแสนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย ตรงนี้คือความสำเร็จ  แต่ต้องตั้งคำถามต่อว่า ผู้ประกอบการเหล่านั้นขอเครื่องหมายฮาลาลเพื่ออะไร ผลิตเพื่อขายเฉพาะภายในประเทศหรือขอเพื่อการส่งออก หรือทั้ง 2 อย่าง รวมถึงทำอย่างไรที่จะช่วยให้ส่งออกได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มยอดขายได้ และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ถ้าเรายืนยันการเติบโตเหล่านี้ได้ ก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้”

              นอกจากนี้ เรื่องเครื่องหมายฮาลาล เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมกำลังสับสนมาก เนื่องจากเครื่องหมายฮาลาลที่มีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเป็นพื้นหลัง เป็นลิขสิทธิ์ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่มีพี่น้องมุสลิมหลายหน่วยธุรกิจเอาเครื่องหมายนี้ไปใช้โดยไม่รู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ต้องมีการตักเตือนและให้อภัยกัน ซึ่งจะต้องอธิบายให้เขารู้ว่า เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องมีการขออนุญาต และเป็นเครื่องหมายที่เป็นลิขสิทธิ์ของคณะกรรมการกลางอิสลามฯ จะต้องผ่านการขออนุญาตและมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ตามขั้นตอนที่มีอยู่

             “ ทั้งนี้เครื่องหมายฮาลาลทั่วไปเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่พี่น้องมุสลิมจะสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งรวมถึงการนำเครื่องหมายพระนามอัลเลาะห์ และนบีมูฮัมหมัด หรือบิสมิลละห์ แสดงให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาล ซึ่งเคยใช้กันมาในอดีต แต่จะสร้างความน่าเชื่อถือกับนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคหรือไม่มากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ”

              ศ.ดร.อิศรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีการละเมิดเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายที่เป็นลิขสิทธิ์ขององค์กรศาสนา แต่มีธุรกิจหรือบางหน่วยงานนำเครื่องหมายฮาลาลไปติดตามสถานประกอบการต่างๆ โดยบางครั้งไม่ได้ฮาลาลจริง ซึ่งเป็นการละเมิดที่ร้ายแรงต่อสังคมมุสลิมโดยรวม เป็นการหลอกลวงประชาชน ส่วนหนึ่งเพราะเราขาดการดูแล ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาล และเกิดความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยได้

               อย่างไรก็ตาม มองว่าเครื่องหมายฮาลาลมีความสำคัญกว่า GMP และ HACCP โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน ต่อไปหากใครจะมาขอเครื่องหมายฮาลาล จะต้องแสดงตนว่าผ่านมาตรฐาน GMP หรือ HACCP ก่อน ซึ่งจะเป็นการง่ายต่อการรับรองฮาลาล ทั้งนี้มาตรฐานเหล่านี้จะต้องไม่แข่งกันเอง นี่เป็นการบ่งบอกว่า เครื่องหมายรับรองฮาลาลของไทยมีมาตรฐาน(Standard) สูงกว่ามาตรฐานอื่นๆ

               สำหรับเรื่องของสินค้าฮาลาลเราจะต้องเข้าใจว่า สินค้าบางชนิดมีศักยภาพที่ฮาลาลในตัวมันเอง โดยไม่ต้องขอเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งจะขอหรือไม่ขอเครื่องหมายฮาลาล สินค้าดังกล่าวก็ขายได้ในตัวมันเอง ดังนั้นการพยายามให้สินค้าที่มีศักยภาพในตัวมันเอง มีเครื่องหมายฮาลาลไม่น่าจำเป็น อาจทำให้การวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล คลาดเคลื่อนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวัง

               “ เมื่อเราดูข้อมูลฮาลาล พบว่ามีการรวมข้อมูล การส่งออกข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไปในตลาดโลก หรือตลาดมุสลิมแล้วบอกว่า การส่งออกสินค้าฮาลาลมากมายมหาศาลและกำลังขยายตัว ซึ่งความจริงแล้วเป็นสินค้าที่มีศักยภาพติดตราฮาลาลได้เท่านั้น ทำให้เรามีตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ดูเหมือนมากมาย ซึ่งนั่นทำให้ตัวเลขการส่งออกสู่ตลาดฮาลาลโลกคลาดเคลื่อนมากเกินความจริงได้”

               ศ.ดร.อิศรา ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมางานวิจัยพบว่ายอดการส่งออกสู่ประเทศที่มีประชากรเป็นมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ตกลงมาในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ตลาดใหญ่ เช่นตลาดตะวันออกกลางหรือกลุ่มอาหรับ ตลาดแอฟริกา รวมถึงตลาดเอเชีย ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ชี้ว่าในช่วง 10 ปีแรกยอดตก เพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ส่วน 10 ปีหลังยอดตกเพราะเราไม่มีทั้งความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการโยกย้ายตลาดการส่งออก  ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงก็จะตกอยู่ในวังวนเช่นนี้


              อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกต่างก็ต้องการเจาะตลาดมุสลิม แต่มีวิธีคิดที่ฉีกไปจากเดิม เช่น ประเทศบรูไน ไปลงทุนทำปศุสัตว์ในออสเตรเลีย โดยใช้ระบบฮาลาล จากบรูไน แต่ใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงปศุสัตว์ของออสเตรเลีย ขณะที่ญี่ปุ่นเองมาลงทุนในบรูไนใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แต่ใช้ระบบฮาลาลของบรูไน เมื่อเขาผลิตให้คนบรูไนบริโภคได้ และมีการรับรองจากรัฐบาล เขาก็สามารถส่งออกไปตลาดมุสลิมได้

             “ เขามองว่าถ้าคนบรูไนบริโภคสินค้านี้ การส่งออกไปตะวันออกกลางจะง่ายขึ้น เพราะเขามีเครื่องหมายฮาลาลจากประเทศบรูไนรับรอง เนื่องจากเครื่องหมายฮาลาลของบรูไนเป็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และที่สำคัญรัฐบาลบรูไนเองก็รับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง ซึ่งทำให้ไม่ตกเป็นภาระของผู้ประกอบการ ”

            ขณะเดียวกันก้พบว่ามีผู้ประกอบการไทยจำนวนหนึ่งก็ย้ายฐานการผลิตไปประเทศมุสลิม เพื่อเจาะตลาด และใช้มาตรฐานฮาลาลของประเทศเหล่านี้

             นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าระยะเวลาการตรวจรับรองเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ เช่น เครื่องหมายฮาลาลของอินโดนีเซีย มีอายุ 2 ปี ใช้เวลาตรวจรับรองไม่ถึงครึ่ง ปี ได้รับการรับรองแล้วใช้ไปได้อีกปีครึ่งหรือปีเศษ แต่ของไทยตรวจรับรอง 4- 6 เดือน ใช้ได้เพียง 6-8 เดือน ผลการตรวจรับรองก็หมดอายุต้องขอใหม่ ซึ่งเราต้องแก้ไข

             ศ.ดร.อิศรา ยังชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขว่า จุดที่เราจะต้องมอง คือข้อตกลงการค้าและการบริการระหว่างประเทศของอาเซียน ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยไปขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลในต่างประเทศได้ และขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ตรวจรับรองมาตรวจรับรองในประเทศไทยได้ ซึ่งปัจจุบันข้อตกลงการค้าและการบริการระหว่างประเทศเปิดโอกาส ให้เราสงวนสิทธิ์ได้ แต่เราไม่ตระหนัก ระยะยาวจะทำให้เราลำบาก

            สำหรับข้อเสนอในการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ว่า การรับรององค์กรฮาลาล จะต้องแบ่งเป็น  3 ส่วน “AB” สถาบันมาตรฐานฮาลาล “CB” องค์กรศาสนารับรอง “SB” ประกอบด้วย 2 ส่วน คือเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องของแลป ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องมีอิสระต่อกัน

              ส่วนเรื่องของการตลาด ส่งออกอุตสาหกรรมฮาลาล ส่งเสริมเรื่องการขายให้เป็นบทบาทของรัฐบาลเข้ามาขับเคลื่อน  เช่น กระทรวงพาณิชย์ดูแลในเรื่องข้อมูล การจัดงาน Expo การแสดงสินค้า แต่ในด้านการตลาดควรจะเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางการตลาด ต้องมีภาคเอกชนที่มีความรู้ความสามารถด้านการตลาดมาทำงานในส่วนที่ตนถนัด แต่รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตรวจรับรอง

             ขณะเดียวกัน องค์กรที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล จะต้องมีหน้าที่เข้ามาดูแล อย่าไปหลงทิศหลงทางไปควบคุม เพราะเป้าหมายการตั้งองค์กรเข้ามาดูแลผลิตภัณฑ์ฮาลาล เข้ามาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ขณะที่หน่วยงานศาสนา มีหน้าที่ในการรับรองมาตรฐานให้ถูกตามหลักการศาสนา

             “ จากผลของการทำการวิจัย ผมทำมา 3 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มการตลาดคนรวยคือโลกอาหรับ (ขายน้ำมัน เพชรพลอย) ส่วนคนชั้นกลาง คือพวกเอเชีย และคนยากจน คือแอฟริกา ตลาดแต่ละกลุ่มจะต้องแบ่งกลุ่ม (Segment) ให้ดี มาตรฐานของสินค้า การบรรจุหีบห่อ(Packaging) อาจแตกต่างกัน ส่วนเนื้อในจะเหมือนกันหรือรสชาติต่างกันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่เหมือนกันคือ เครื่องหมายรับรองฮาลาล ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีหลายมาตรฐาน”

            นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมในเรื่องของ การคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาล รัฐต้องส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม ประชาชน และองค์กรต่างๆ ให้สามารถเข้าไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่าฮาลาล รัฐบาลควรส่งเสริมให้เขามีความรู้เพื่อให้สามารถทำงานได้ ให้ทรัพยากร ให้เป็นมือไม้ของรัฐบาลต่อไป