Opinion
Home   /   Opinion  /   รอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

รอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

โดย : บันฑิตย์ สะมะอุน

               สำนักข่าวอะลามี่:  รอมฎอนคือ เดือนที่มุสลิมทั่วโลกต่างถือศีลอดกัน เป็นเดือนที่มุสลิมสงบเสงี่ยมมากที่สุดเดือนหนึ่ง ในเดือนนี้มุสลิมจะหลบเลี่ยงเรื่องราวที่ไร้สาระ หลบเลี่ยงการปะทะกับความรุนแรงและหลีกหนีจากบาปกรรมต่างๆที่ไม่ดีไม่งาม ด้วยความระมัดระวังตัวให้ออกห่างจากสิ่งเย้ายวนที่ทำให้เกิดอารมณ์ ด้วยการงดเว้นอาหาร เครื่องดื่ม และอารมณ์เพศ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงตะวันตกดินทุกวันในเดือนรอมฎอนเป็นเวลาหนึ่งเดือน

               สิ่งเย้ายวนที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่เลวร้าย ความรุนแรง ความโกรธ คือ ประเด็นสำคัญที่ผู้ถือศีลอดต้องระมัดระวังเป็นที่สุด โดยเฉพาะสังคมมุสลิมในยุคปัจจุบันที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงหลายด้าน การเกิดกลุ่มนิยมความรุนแรงจากการก่อการร้าย การระเบิด การทำลายล้าง ที่เกิดขึ้นไม่รู้จบสิ้นในพื้นที่สังคมมุสลิมไทยและมุสลิมทั่วโลก ปรากฏการณ์เหล่านี้มีผลต่อสมาธิและความดีงามในการถือศีลอด

              ในบางครั้งเกิดกระแสที่สร้างความเสียหายให้กับรอมฎอน เช่น การอ้างว่ามีกลุ่มก่อการร้ายสร้างความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการต้อนรับเดือนรอมฎอน หรือเพื่อจะได้รับผลบุญจากการปฏิบัติการในเดือนรอมฎอน


             เป็นความพยายามที่จะยกสถานการณ์ในพื้นที่ให้เบี่ยงเบนออกไปเป็นเรื่องของศาสนา ซึ่งนั่นคือการเบี่ยงเบนออกจากความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเบี่ยงเบน/ปกปิดเรื่องราวความเป็นจริงอันเลวร้ายที่เป็นต้นเหตุของปัญหาจริง ที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดจากความลุ่มหลงในผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องที่ไม่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่มีอำนาจใดๆปกป้องพวกเขา

              เป็นการทำความเสียหายกับคนในพื้นที่และยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักการศาสนา นับเป็นการดูถูกเหยียดหยามทั้งคนในพื้นที่และศาสนาของคนในพื้นไปพร้อมกัน

             ความเคร่งคัดในศาสนาคือเป้าหมายของการพัฒนาสังคมให้ผู้คนมีจิตสำนึกในเรื่องบาปบุญ  แต่กลับใช้ไม่ได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ศาสนาของคนในพื้นที่กลับถูกมองในแง่ร้าย เกิดความรู้สึกหวาดระแวงที่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนเท่านั้น แต่มันลึกลงไปสู่ความหวาดระแวงในเรื่องของศาสนาด้วย

             เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในความเป็นจริงก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีต ด้วยการนำแนวคิด/วิถีคิด/และหลักการทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่มาปลุกกระแสเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดให้กับผู้คนและสังคม จนคนในพื้นที่ที่เคยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรมและชาติพันธุ ต้องกลายมาเป็นคนที่ใช้ชีวิตกันด้วยความหวาดระแวงต่อกัน

             เราไม่สามารถมองเห็นผู้ที่คิดวางแผนร้ายนี้ หรือไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง จริงๆแล้วทุกคนล้วนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือคนนอกพื้นที่ก็ตาม คนที่อยู่เบื้องหลังต้องมีแน่ แต่เมื่อรู้แล้วจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบขึ้นหรือจะยิ่งรุนแรงขึ้น เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ต่างกัน

              ทุกคนในสังคมล้วนมีส่วนที่ทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ยุติลงหรือดำเนินต่อ เพราะความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดส่วนใดของประเทศ ก็ล้วนมีผลกระทบไม่ทางตรงหรือทางอ้อมกับประเทศชาติทั้งสิ้น  

                บางอย่างไม่รู้ก็ดีแล้ว ถ้ารู้แล้วมันทำให้เหตุการณ์มันเลวร้ายขึ้น เพราะจะอย่างไรก็ตาม สัจธรรม/ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แม้จะผ่านกาลเวลาที่ยาวนานสักเพียงใดก็ตาม ใครที่ทำอะไรไว้ก็จะได้สิ่งนั้นตามที่กระทำไว้เป็นการตอบแทนเสมอไม่โลกนี้ก็โลกหน้า

              รอมฏอนนี้ ช่วยกันขอพรให้สังคมเกิดความสงบสุขไม่ว่าในพื้นที่หรือนอกพื้นที่

              ดุอาเป็นอาวุธที่อ่อนโยนที่สุด การขอพรเป็นการสื่อให้สังคมใหญ่รับรู้ว่า ความจริงแล้วคนในพื้นที่มีหลักคิดที่ไม่นิยมความรุนแรง พร้อมที่จะให้อภัย แม้แต่การตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ยังตอบโต้ด้วยความอ่อนโยน โดยการขอพรหรือดุอาจากพระเจ้า

              และที่สำคัญคือการขอดุอาไม่ใช่การล้างแค้นหรือสาปแช่งทำลายกัน เพราะคำว่าดุอาคือการขอความดีงามให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นหรือสังคมอื่น การขอดุอาไม่ได้มีเป้าหมายให้เกิดความเลวร้ายกับใครหรือสังคมใด