The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ภูมิปัญญาจากหนังสือเก่า : ภาษามลายู

ภูมิปัญญาจากหนังสือเก่า  : ภาษามลายู

โดย:   สมาน อู่งามสิน
           aliman_u@yahoo.com

              สำนักข่าวอะลามี่ :  เป็นที่พออกพอใจและชื่นชมจากหลายฝ่ายเมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. และ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินการ ฯลฯ ได้ร่วมกันเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู เสียงของประชาชน” อย่างเป็นทางการตามข้อเรียกร้องของประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556

                วันนี้ภาษามลายูกำลังมีอนาคตที่ควบคู่กันไปกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ของ 10 ประเทศ ที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน ในจำนวนนี้ ประชากรเกือบ 400 ล้านคนพูดภาษามลายูเป็นหลัก ฐานะทางประวัติศาสตร์ของภาษามลายูกำลังผกผันเข้าสู่กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน จากภาษาที่เคยถูกมองอย่างมีอคติ (bias) ว่าเป็นภาษาของพวกแบ่งแยกดินแดนและผู้ก่อการร้าย กลายมาเป็นภาษาของผู้เจริญแล้ว และเป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในประชาคมอาเซียน

                ตำรา คู่มือเรียนพูดภาษามลายู” ตีพิมพ์เมื่อปี 2508 โดยกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้แต่งคือ อ.ประสิทธ์ สนิทพันธ์ (M.H. Ossman) ได้พรรณนาในคำนำและคำชี้แจงของท่าน ถึงประโยชน์ในการเรียนรู้ภาษามลายู พร้อมทั้งเรียกร้องต่อข้าราชการและนักธุรกิจทั้งหลายว่า ไม่ต้องกระดากอายใคร” ต่อไปอีกแล้ว

               ด้วยได้พิจารณาเห็นว่า ข้าราชการของกรมฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนากร ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน ควรจะพูดภาษาท้องถิ่นได้ดีพอสมควร เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงจิตใจของประชาชนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับข้าราชการเหล่านี้ที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนในชนบทในท้องถิ่นดังกล่าวมาแล้ว ในการถ่ายทอดวิชาการแผนใหม่และส่งเสริมให้ชาวชนบทให้มีความรู้ในภาษาไทยได้กว้างขวางยิ่งๆขึ้น”

            การพูดชัด”ฝรั่ง, แขก, จีน ฯลฯ มาอยู่ดำเนินอาชีพในสี่จังหวัดภาคใต้และตลอดแหลมมลายู ใกล้ชิดกับชาวพื้นเมือง ได้ฟังได้พูดกับชาวพื้นเมืองอยู่เสมอๆ นับเป็นจำนวนปีๆ หาคนที่พูดมลายูได้ชัดเจน เหมือนคนมลายูได้ยากเหลือเกิน แต่ทั้งๆที่พูดมลายูไม่ชัด บางคนพูดอย่างส่งเดช เขายังสามารถถ่ายเทกระเป๋าของชาวพื้นเมืองได้อย่างสบาย ถ้าพวกนี้เขานึกกระดากชาวพื้นเมืองที่เขาพูดไม่ชัด ไม่กล้าพูดค้าขายกับเขา ข้าพเจ้าคิดว่า (โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา) อาจจะไม่เจริญก้าวหน้าเร็วเท่าที่มองเห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นแน่

            ฉะนั้นคนไทยเรา เมื่อเรียนภาษามลายูแล้ว จงนึกถึงคนเหล่านี้เถอะแล้วจะสบายใจ ไม่ต้องกระดากอายใคร ยิ่งข้าราชการและนักธุรกิจ เมื่อไปดำเนินกิจในสี่จังหวัดภาคใต้ดังกล่าวแล้ว จะทำให้ชาวพื้นเมืองเพิ่มความเคารพนับถือขึ้นอีกเท่าตัว และยังจะเป็นศรีสง่าแก่ตัวเพิ่มขึ้นอีกมากมายทีเดียว พอๆกับผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษเช่นนั้น”

             เส้นทางเวลา (Timeline) ของภาษามลายูยังอีกยาวไกล จุดหมายปลายทาง (Milestone) ที่ประชาคมมลายูมุสลิมอยากจะไปให้ถึงคือ ภาษามลายูถูกยกฐานะขึ้นเป็นภาษาราชการเยี่ยงเดียวกับที่ใช้ใน 4 ประเทศคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ..... มาลองติดตามกันดู