The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ประเด็นสนทนา: Deep South Watch

ประเด็นสนทนา:   Deep South Watch

โดย : วสันต์ ทองสุข

               ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 4 สถาบันพระปกเกล้าได้เรียนเชิญวิทยากรที่มีความรู้และมีประสบการณ์ตรงในการทำงานด้านสันติวิธีมาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง เพราะช่วงปลายเดือนมกราคม นักศึกษาทั้งหลักสูตรจะต้องลงไปศึกษาดูงานในพื้นที่จริง ทำให้นักศึกษาที่ได้ร่ำเรียนกันในห้องแอร์เย็นฉ่ำกลับเหงื่อออกได้ เพราะข้อมูลหลายสิ่ง หลายอย่างที่วิทยากรนำเสนอออกมาล้วนตรงกันข้ามกับข้อมูลข่าวสารที่พวกเราเสพติดจากสื่อมวลชนส่วนกลางทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี และวิทยุกระจายเสียง

                บังยุบ – มูฮำมัดอายุบ  ปาทาน มือข่าวชั้นเซียนของเครือหนังสือพิมพ์มติชน ในฐานะบรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เป็นวิทยากรที่ปลุกเร้าอารมณ์ของนักศึกษาให้ตั้งใจฟังและซักถามข้อมูลอย่างเร่าร้อนและตรงประเด็น นักศึกษาละอ่อนอย่างพวกเราที่รับฟังข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวมาตลอดตั้งหลักแทบไม่ทัน

               เมื่อได้รับข้อมูลจากคนข่าวในพื้นที่ที่คลุกวงข่าวมาหลายสิบปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก่อนเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และ หนึ่งวันถัดมาเป็นวันประกาศใช้กฎอัยการศึก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก คือวันที่ 5 มกราคม 2547 – 9 ปี เหตุความรุนแรงระลอกใหม่ รวมทั้งเหตุความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ และที่อ.ตากใบในปี 2547

               ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch – DSW) เป็นองค์กรประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีต้นกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงและต่อยอดจากศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อกลางปี 2549 ภายใต้ภารกิจสำคัญ คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ความขัดแย้งและความรุนแรงในชายแดนภาคใต้โดยใช้ข้อมูลและการคิดค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์จากมิติต่างๆ

              พร้อมทั้งทำหน้าที่เตือนภัยต่อสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ของสังคม พร้อมทั้งให้สื่อมวลชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปช่วยกันเฝ้ามองปัญหาและเข้าใจปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

              DSW ยังได้ร่วมพัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในด้านโครงสร้างของความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความรู้สึกของสังคมและชุมชนต่อเหตุการณ์ความรุนแรง รวมทั้งพัฒนาตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ ในด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ให้กลายเป็นศูนย์ข้อมูลและความรู้สารสนเทศ สำหรับการเรียนรู้และค้นคว้าที่น่าเชื่อถือในวงกว้าง

              ในอีกด้านหนึ่ง DSW ทำหน้าที่ในการสื่อสารข้อเท็จจริงจากพื้นที่และการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเหล่านั้นด้วยมิติอันหลากหลายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งผลักดันให้การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งและคลี่คลายความรุนแรงให้เป็นไปในทิศทางที่นำไปสู่สันติภาพและความยุติธรรม ผ่านกระบวนการที่มีพื้นฐานจากองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

              ผมให้เนื้อที่กับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เป็นอย่างมาก เพราะสนับสนุนแนวคิดและจุดยืนในเป้าหมายที่ว่า .. เพื่อทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น กลายเป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ของสังคม พร้อมทั้งให้สื่อมวลชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ช่วยกันเฝ้ามองปัญหาและเข้าใจปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

               บังยุบยังฝากถึงสื่อมวลชนมุสลิมทั้งเคเบิ้ลทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และองค์การพัฒนาเอกชนมุสลิมด้านต่างๆในกรุงเทพฯว่า ช่วยสนใจปัญหาสถานการณ์ภาคใต้กันให้มากหน่อย ไม่ใช่ไปสนใจแต่ปัญหาไกลตัวอย่างอิรัก อัฟกานิสถาน อิสราเอล และด่าแต่อเมริกา!

               สำคัญที่สุด ครบรอบ 9 ปีเหตุความรุนแรง ชาวบ้านต่างเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วรัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีเถอะ

                พี่น้องมุสลิมและพี่น้องไทยพุทธ เขาอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ !!!


ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมีนามคม 2556