The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ท่าทีของไทยต่อรัฐปาเลสไตน์

ท่าทีของไทยต่อรัฐปาเลสไตน์
บันฑิตย์ สะมะอุน

             สำนักข่าวอะลามี่ : มีคำถามหนึ่งถึงท่าทีของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติว่าจะออกเสียงสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐ และยังเป็นการท้าทายรัฐบาลไทยถึงการตัดสินใจในฐานะประเทศผู้มีสิทธิในการออกเสียงสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน

           ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายของประเทศไทยและอาจจะท้าทายต่ออนาคตของรัฐบาลด้วยในอนาคต เมื่อไทยจะต้องเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียนซึ่งทุกประเทศพร้อมที่จะออกเสียงสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐยกเว้นสามประเทศคือไทย พม่า และและสิงคโปร์

         ยิ่งมองไปยังกลุ่มประเทศอาหรับที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันมาอย่างยาวนานด้วยแล้ว นับว่าเป็นปัญหาที่หนักใจรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

           มีสองกลุ่มที่มีความคิดแตกต่างในประเด็นการตั้งรัฐปาเลสไตน์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ที่จะถึงนี้ คือ กลุ่มที่เห็นด้วยซึ่งมีจำนวนมากกว่าหากจะพิจารณากันที่จำนวน และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยแต่มีอำนาจและอิทธิพลต่อประเทศต่างๆทั่วโลก

           แบ่งกันตามแนวคิดแล้วก็อาจแบ่งออกเป็นได้อีกสองกลุ่มแนวคิดคือ กลุ่มที่มีแนวคิดในเรื่องสันติภาพในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อนำมาอ้างว่า หากรัฐปาเลสไตน์เกิดขึ้นจะเกิดปัญหาและจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงในตะวันออกกลาง และ สันติภาพในตะวันออกกลางก็จะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น

           ในมุมมองนี้ยังมีการแบ่งแยกทางความคิดอีกชั้นหนึ่งว่า ในความเป็นจริงแล้วข้ออ้างเรื่องสันติภาพในตะวันออกกลางเป็นข้ออ้างของผู้ยึดครองและมหาอำนาจไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงหรือตัวปัญหาที่แท้จริงแต่อย่างใด เพราะสันติภาพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

            และยิ่งลงลึกไปถึงวิธีการในการจัดการสันติภาพด้วยแล้วยิ่งไม่เห็นทางสว่างแห่งสันติในแผ่นดินตะวันออกกลางได้เลย ความต้องการให้เกิดการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยมีผู้เป็นตัวกลางการเจรจาอย่างสหรัฐฯ

         ภาพที่ปรากฎจึงเป็นภาพของความชัดแย้งและไม่เห็นด้วยจากกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริงอย่างอาหรับและชาวปาเลสไตน์ หรือแม้แต่นานาประเทศ

          การเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพตลอดกว่า๒๐ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้ผลและไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะฝ่ายผู้ต้องการเจรจาก็หวังจะพ้นผิดและไม่ให้ถือโทษกับการกระทำในอดีตที่ทำลงไปซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องมันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะแค่มานั่งโต๊ะเจรจา มีหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการเจรจาและไม่คิดว่าจะเป็นต้นเหตุและทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่แท้จริง

           แม้ประเทศอาหรับบางประเทศอาจไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยเฉพาะประเทศที่ผูกติดและอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯและอิสราเอล

          แต่ในวันนี้ทุกประเทศในอาหรับคงต้องยอมรับความจริงในการที่จะต้องออกเสียงสนับสนุนให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ขึ้น กระแสของเรื่องนี้นับวันยิ่งกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

            ยิ่งเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการเดินประท้วงของประชาชนต่อผู้นำของตนในประเทศอาหรับหลายประเทศ ก็ยิ่งทำให้ประเทศอาหรับบางประเทศวางตัวลำบากกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทางออกหนึ่งคือการต้องยอมออกเสียงสนับสนุนให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งแน่นอนต้องเกิดผลกระทบกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของอิสราเอลในอนาคต

            คำถามคือการเกิดรัฐปาเลสไตน์นั้นมีผลกระทบกับใคร ใครได้ใครเสีย !!!

           แน่นอนประเทศที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคืออิสราเอล เพราะเกรงจะเกิดการคลานอำนาจและการเรียกร้องต่อสู้ที่เป็นระบบและเป็นทางการมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าการเกิดประเทศอิสราเอลขึ้นมาบนแผ่นดินตะวันออกกลางหรือบนแผ่นดินปาเลสไตน์นั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ

           ไม่ปกติตรงที่อิสราเอลเป็นประเทศที่เกิดขึ้นจากคนข้างนอกที่เข้าไปทำความขัดแย้งให้เกิดขึ้นภายในระหว่างชนชาติอาหรับกับชนชาติยิว ซึ่งในอดีตต่างมีความรักและเคารพสิทธิของกันและกันมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ ตัวการที่ว่านั้นคือไซออนิสต์และมหาอำนาจในยุคนั้น คืออังกฤษและสหรัฐฯ เราคงจะบรรยายความเดิมของปัญหาไม่ได้เพียงบทความเดียวสั้นๆนี้ แต่เรื่องของการจัดให้มีรัฐปาเลสไตน์เคียงคู่กับรัฐอิสราเอลนั้นเป็นมติเดิมที่ถูกรับรู้ก่อนหน้านี้แล้ว

             สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่นานจะมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งต้องมองให้หลายด้านหลายมิติ

           การตัดสินใจครั้งนี้มีผลไปถึงอนาคตของประเทศ แม้ประเทศไทยจะวางตัวลำบากเช่นเดียวกับหลายๆประเทศ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องตัดสินใจ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไทยอาจจะไม่ต้องการมีเรื่องวุ่นวายกับอิสราเอลและสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบในอนาคตอยู่หลายด้านด้วยกัน

           เพราะทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯล้วนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน มีผลประโยชน์หลายด้านเชื่อมโยงกัน การค้า การลงทุน ความมั่นคง เกษตรกรรม แรงงาน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและมีความสำคัญทั้งสิ้น 

          ผู้เขียนเองก็ไม่คิดว่าความคิดของผู้เขียนจะเป็นความคิดที่ถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว และคงจะเป็นเรื่องที่รับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ไหวเป็นแน่

         แต่ประเด็นที่ไทยควรพิจารณาคือ หากไทยเห็นด้วยและยอมออกเสียงสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในอนาคต อย่างน้อยก็เป็นการให้การสนับสนุนประเทศที่ถูกรุกรานและเห็นด้วยกับประเทศที่ถูกละเมิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างปาเลสไตน์ หากไม่เห็นด้วยก็หมายถึงไทยถูกมองว่าอยู่ข้างผู้กดขี่ข่มเหงในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างอิสราเอลที่ทั่วโลกกำลังมองและให้ความสำคัญอยู่

         และไทยเองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์แต่เฉพาะอิสราเอลและสหรัฐฯเท่านั้น โลกอาหรับ ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีกในกี่ปีข้างหน้า ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยต้องกลับมาทบทวนอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน

         ไทยมีบาดแผลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชาวโลกรับรู้หลายเรื่อง  โดยเฉพาะกรณีของความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ฯลฯ

         ความจริงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำให้ความขัดแย้งมีความรุนแรงและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สหรัฐฯให้การสนับสนุนความพยายามในการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแม้แต่ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

           แต่สำหรับอิสราเอลกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่ออาหรับปาเลสไตน์เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯเน้นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบไร้มาตรฐาน ทำเป็นหลับตาข้างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯมักจะเลือกปฎิบัติกับบางประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด แต่กับอิสราเอลแล้วการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นแค่เรื่องความเพื่อฝัน สหรัฐฯไม่เคยแสดงมาตรฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนกับอิสราเอลได้เลย

            ปัญหาที่ควรระมัดระวังคือความรู้สึกขัดแย้งภายในประเทศ เช่น มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และมุสลิมทั่วประเทศที่มีเชื้อสายแตกต่างกัน แต่มีอุดมคติและแนวคิดในเรื่องของปาเลสไตน์เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การมองว่าปาเลสไตน์ถูกละเมิดโดยอิสราเอล เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาทั้งทางแนวคิดทางศาสนาและแนวคิดทางด้านสิทธิมนุษยชน

           นอกจากนั้นยังต้องระมัดระวังความรู้สึกขัดแย้งภายนอกประเทศหรือระหว่างประเทศ เช่น อาเซียนซึ่งต่อไปจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นอกจากนั้นยังมีองค์กรที่รวมตัวกันจากชาติมุสลิมหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโอไอซี กลุ่มประเทศจีซีซี สันนิบาตรอาหรับ ฯลฯ รวมถึงประเทศอื่นๆและองค์กรอื่นๆอีก ที่ส่วนใหญ่ก็รู้และเข้าใจดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์อย่างชัดเจน

          การตัดสินใจของรัฐบาลไทยต่อกรณีรัฐปาเลสไตน์ แม้ไทยจะเป็นเพียงเสียงที่ดูเล็กน้อย แต่มันยิ่งใหญ่ต่อภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศในระดับประชาคมโลก คงต้องมองไปยังอนาคตของประเทศและความเป็นจริงของสถานการณ์โลกให้ชัดเจนก่อนการตัดสินใจ เพระสิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สุดคือประเทศชาติและศักดิ์ศรีของคนในชาติ
...........................