The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /    มาเฟียในธุรกิจท่องเที่ยวเมืองภูเก็ต (ตอนที่ จบ)

มาเฟียในธุรกิจท่องเที่ยวเมืองภูเก็ต (ตอนที่ 2)
โดย: จรูญ ชูจันทร์


               ตอนที่แล้วจบลงที่กลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งจากยุโรปและเอเชียเพิ่มจำนวนขึ้นมาจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากการท่องเที่ยวสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้จำนวนมาก

               การเติบโตของการท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด  โดยไม่มีการจัดระเบียบที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ได้สร้างปัญหาทั้งกับนักท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

               ผมเคยเห็นความพยายามของภาครัฐในการจัดการรถป้ายดำหรือรถที่ไม่ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฏหมาย โดยใช้ตำรวจตระเวนชายแดนนับร้อยนาย มาตรวจจับรถป้ายดำ หรือรถที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายบริเวณทางเข้า - ออกสนามบินเพื่อแก้ปัญหาบางครั้งคราว แต่เมื่อไม่มีการตรวจจับแบบเข้มงวด ปัญหากลับมาเหมือนเดิม

              รถรับจ้างป้ายดำที่เข้าไปรับแขกภายในสนามบินมีนับพันคัน และเข้าไป "จับแขก" นักท่องเที่ยวแบบรุมทึ้ง ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเมืองท่องเที่ยวแบบภูเก็ต   สุดท้ายรถแท็กซี่พวกนั้นเรียกราคาค่าโดยสารมหาโหดกับนักท่องเที่ยวดังที่รู้กัน   ผลเสียจึงเกิดขึ้นกับภาพพจน์การท่องเที่ยวในที่สุด

               ไม่รวมถึงปัญหาเจ็ทสกีหรือมอเตอร์ไซด์เช่า ที่ใช้กลโกงกับนักท่องเที่ยวเรียกเก็บค่าเสียหายหลักหมื่นบาท ไม่เข้าใจว่าว่าทำไมจึงเกิดขึ้นได้ไม่สิ้นสุด

                เราควรปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นบางกลุ่ม บางคน และนักการเมืองระดับชาติบางพวก บางคน คอยสนับสนุนในลักษณะลูกพี่คอยคุ้มหัวกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ ให้ขูดรีดนักท่องเที่ยวอย่างนั้นหรือ? มันไม่ขี้เหร่เกินไปเหรอครับ

               มนต์เสน่ห์ของเมืองไข่มุกอันดามันไม่ได้แค่ดึงดูดให้ผู้คนต่างแดนเข้ามาเยือนชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  แต่กลายเป็นถิ่นพำนักถาวรของต่างชาติจำนวนมาก  เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามารุ่นก่อนมองเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองภูเก็ต ว่ายังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมากในอนาคต จึงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการท่องเที่ยวดังกล่าว ตั้งแต่โรงแรม ที่พัก  ธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร 

                โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิง ว่ากันว่าสถานบันเทิงย่านป่าตองมากกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมด เจ้าของตัวจริงเป็นชาวต่างชาติ

                กลุ่มผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวหลายชาติ โดยเฉพาะชาวรัสเซียเป็นกลุ่มหนึ่งที่จัดการขายทัวร์แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง เช่าเหมาที่พักในภูเก็ตเป็นรายปีไว้รองรับไว้รองรับนักท่องเที่ยวลูกค้าของตนเอง  ทำธุรกิจนำเที่ยว  ร้านอาหารเฉพาะกลุ่ม สถานบันเทิงเฉพาะกลุ่ม  ไม่เว้นแม้กระทั่งร้านซักรีดหรือรถตุ๊กตุ๊กรับส่งที่เป็นข่าวไปเมื่อต้นปี

              ขณะที่ชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการสร้างบ้านหลังที่สองในภูเก็ต  จึงมีนักธุรกิจสัญชาติเดียวกันเปิดบริษัทดำเนินธุรกิจเช่า ซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ภายใต้กรอบกฏหมายไทยคือให้คนไทยถือหุ้น 51% และต่างชาติถือหุ้น 49 % ซึ่งสัดส่วนคนไทย 51 % นั้นเลือกใช้นอมินี เข้าถือแทน  

               จากนั้นนำหุ้นของบริษัท ไปขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการบ้านอีกหลังในภูเก็ตซึ่งเมื่อต่างชาติถือครองหุ้นในบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จจึงครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยสมบูรณ์

               บางรายใช้วิธีการช่องว่างทางกฏหมาย ที่เปิดช่องให้ต่างชาติสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 30 ปี  แต่หลบเลี่ยงโดยวิธีการทำสัญญาเช่าต่อเนื่อง 2 รอบ 3 รอบรวมเป็นเวลา 90 ปี และนำออกไปให้เช่าในราคาซื้อขาย

             รายได้ที่ควรเกิดขึ้นกับเมืองภูเก็ตจึงไม่มีตกหล่นมาถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของท้องถิ่น

              กลายเป็นว่าทั้งคนไทย และต่างชาติ ที่เข้ามาในธุรกิจท่องเที่ยว เข้ามากอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเองทั้งสิ้น โดยที่ท้องถิ่นภูเก็ตไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

              ก็ได้แต่ภาวนาให้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามมาเฟียท่องเที่ยว ทำหน้าที่กวาดล้างความไม่ถูกต้องทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ใช้อำนาจบังคับทางกฏหมายอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ตกกับเมืองภูเก็ตอย่างเต็มที่

              เพราะเมืองภูเก็ตยังต้องการการพัฒนาทั้งระบบขนส่ง จราจร  ปัญหาอาชญากรรม  สิ่งแวดล้อมและการจัดระบบระเบียบอีกหลายเรื่องทีเดียว เพื่อให้เมืองที่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สวยงามเช่นนี้ อยู่คงอยู่ และสร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกอีกนานเท่านาน

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับกันยายน 2556