The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ประเด็นสนทนา: ความงดงามจากชายแดนใต้

ประเด็นสนทนา: ความงดงามจากชายแดนใต้

โดย: วสันต์  ทองสุข

 

            เห็นข่าวเล็กๆ ที่สื่อมวลชนส่วนกลางไม่ค่อยได้ให้ความสนใจนัก แต่ สำนักข่าวอิศรา กลับนำเสนอได้อย่างสวยสดงดงาม เพราะเป็นมิติที่เกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์ทั้งศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

            ชื่อหมู่บ้าน” ที่ถูกทางราชการตั้งให้ใหม่หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม อาจจะด้วยความไม่เข้าใจในภาษามลายูถิ่น หรือ การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของชาวบ้านเนื่องจากพูดภาษาไทยกลางไม่ชัด ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจละเลยที่จะรับฟังหรือพยายามทำความเข้าใจ จึงทำให้ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการผิดเพี้ยนไปทั้งการออกเสียงและความหมาย

            โครงการ ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมีศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมกันดำเนินโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิเอเชีย และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)

            หลังจากทีมงานลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชาวบ้านในแต่ละชุมชนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปใน 10 หมู่บ้านนำร่อง ซึ่งนำไปสู่การมอบอัตลักษณ์ภาษามลายูและชื่อหมู่บ้านที่ถูกต้องกลับคืนสู่ชุมชนทั้ง 10 แห่งในงาน “มหกรรมเฉลิมฉลอง : “ชื่อบ้านในความทรงจำ” ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของชาวบ้านที่มาร่วมงาน

            สำหรับหมู่บ้านนำร่องทั้ง 10 แห่งที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านกลับไปเป็นชื่อที่ถูกต้องได้แก่

            1) หมู่บ้านปรีดอ หมู่ 8 ต.บาราเฮาะ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน บลีดอ

            2) หมู่บ้านลดา หมู่ 3 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน ลาดอ

            3 )หมู่บ้านมะหุด หมู่ 2 ต.ปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน มาโงะฮ

            4) หมู่บ้านเขาวัง หมู่ 3 ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน  บูเกะแว

            5) หมู่บ้านป่าไหม้ หมู่ 1 ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่นจังหวัดปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน ฮูตังฮางุส

            6) หมู่บ้านบางเก่าเหนือ หมู่ 1 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน มืองาแบ ฮีเล

            7) หมู่บ้านบางเก่าใต้ หมู่ 2 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน มืองาแบ

            8) หมู่บ้านบางเก่าทะเล หมู่ 3 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน มืองาแบ ปาตา

            9) หมู่บ้านเงาะกาโป หมู่ 3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน กือปาลอบาตัส เกาะกาโป

          10) หมู่บ้านบึงฉลาม หมู่ 10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน กูแบบยู

            อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเล่าว่า เป็นการประสานงานระหว่างชุมชนกับรัฐเพื่อให้ศักดิ์ศรีด้านภาษาแก่ชุมชน จึงเริ่มต้นใน 10 ชุมชนนำร่อง อย่างไรก็ดี จากการสำรวจยังพบว่ามีอีก 1,700 หมู่บ้านที่ชื่อหมู่บ้านยังมีปัญหา ซึ่งผู้นำชุมชนและชาวบ้านต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อไป

            ขณะที่คอเต็บประจำมัสยิดบาบอ เยาวชน และอีกหลายๆ คนจากหมู่บ้านที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจมากที่ได้กลับไปใช้ชื่อหมู่บ้านดังเดิมที่บรรพบุรุษตั้งไว้

            ความงดงามจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ชาวบ้านร่วมกันเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีความรุนแรง “ที่มองไม่เห็น” อีกมากมาย ที่รัฐไทยละเลยต่อมลายูมุสลิม ใน 3 จังหวัดภาคใต้!

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2557