The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เลขาธิการ สผ.แจง ขั้นตอนทำ EHIA โรงไฟฟ้าเทพา ครบถ้วน โปร่งใส

เลขาธิการ  สผ.แจง ขั้นตอนทำ EHIA โรงไฟฟ้าเทพา ครบถ้วน โปร่งใส

              สำนักข่าวอะลามี่ : จากกรณีสื่อเสนอข่าวนายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ พร้อมกลุ่มชาวบ้านจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระงับรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (
EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมีปัญหาหลายประการ


               นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโครงการตามแผน PDP 2015 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA และเป็นโครงการของรัฐที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติซึ่งในการพิจารณารายงานฯ สผ.

              โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้พิจารณารายงานฯ และให้ความเห็นเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งความเห็นของ คชก. ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แต่จะใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

             กฟผ. ได้เสนอรายงาน EHIA ให้ สผ. พิจารณา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 คชก.ได้ประชุมเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวรวมทั้งรายงานชี้แจงเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 คชก. ได้พิจารณารายงานฯ รวมทั้งหนังสือ และประเด็นการคัดค้านโครงการ 3 เครือข่าย (เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ประกอบการพิจารณารายงานฯ โดย กฟผ. ได้ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย

              ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่ารายงานฯ มีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอสำหรับการพิจารณาของ กก.วล. โดยให้ กฟผ. รวบรวมข้อมูลในรายงานฯ และข้อมูลที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมจัดทำเป็นรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ เสนอให้ สผ. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน และนำเสนอ กก.วล. เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

              นางรวีวรรณ ชี้แจงต่อไปว่า สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ตามขั้นตอนได้กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วมร่วมได้โดยตลอด ทั้งในขั้นระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ขั้นการพิจารณารายงาน และขั้นการอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ในการจัดทำรายงาน กฟผ. ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงาน EHIA ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อประกอบการศึกษาข้อมูลและจัดทำมาตรการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้

             1) การรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ รวมทุกตำบลครบทุกตำบลในพื้นที่ศึกษา รวม 1 ครั้ง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 โดยมีผู้เข้าร่วม 3,860 คน

             2) กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานฯ ประกอบด้วย การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 24 ครั้ง ระหว่างวันที่ 11 – 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้เข้าร่วม 708 คน และการสำรวจความคิดเห็นหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน (การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม) ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 จำนวนรวม 1,461 ตัวอย่าง

              3) การรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานฯ (Public Review) โดยการจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นฯ รวมทุกตำบลครบทุกตำบลในพื้นที่ศึกษา รวม 1 ครั้ง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วม 6,498 คน

            ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการสอดคล้องกับประกาศกระทรวงดังกล่าว โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อย่างน้อย 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ผู้รับผลกระทบจากโครงการ 2) หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำรายงานฯ ได้แก่ เจ้าของโครงการ และนิติบุคคลผู้มีสิทธิจัดทำรายงานฯ 3) หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานฯ 4) หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 5) องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ 6) สื่อมวลชน และ 7) ประชาชนทั่วไป

           ส่วนในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA สผ. ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการสามารถจัดส่งข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลต่อโครงการให้ สผ. นำเสนอ คชก. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ ได้โดยตลอด และที่ผ่านมา คชก. ได้เชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริงต่อ คชก. ในการประชุมครั้งที่ 29/2559 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ซึ่งเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการได้มีหนังสือแจ้งไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว

           อย่างไรก็ตาม คชก. ก็ได้นำประเด็นข้อคิดเห็นของเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ ด้วย นอกจากนี้ ในขั้นก่อนการอนุญาตโครงการหน่วยงานผู้อนุญาตยังจะต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาตด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

            นอกจากนี้ สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ซึ่งจัดขึ้น 3 เวที ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ข้อมูลทางเลือกพลังงานไฟฟ้า การดูแลสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคพลังงานไฟฟ้า และข้อพิจารณาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็นด้วย

              นางรวีวรรณ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เรื่องข้อเท็จจริงของทรัพยากรชีวภาพทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล เป็นต้น นั้น ในการพิจารณารายงาน คชก.ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ได้ลงตรวจสอบพื้นที่โครงการ และสภาพแวดล้อมโดยรอบ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ ด้วย

              โดย คชก. ได้พิจารณารายงาน EHIA รวมถึง 6 ครั้ง ซึ่งเป็นการพิจารณารายงานฯ อย่างรอบคอบ และมีประเด็นข้อคิดเห็นให้ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและแก้ไขข้อมูลในแต่ละประเด็นอย่างละเอียดชัดเจน รวมทั้งเห็นว่าโครงการฯ มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเสนอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปแล้ว