The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลติดตามความคืบหน้า นำร่อง12 ตำบล 3 จังหวัดโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐ

ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลติดตามความคืบหน้า

นำร่อง12 ตำบล 3 จังหวัดโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐ

          สำนักข่าวแอะลามี่ :  ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ประชุมติดตามความคืบหน้า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล เตรียมนำร่อง 12 ตำบลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้


            เมื่อ 5 ก.พ 2563 พล.อ.จำลอง คุณสงค์ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลและผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มที่ ๖ งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ เป็นประธานการประชุมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐเพื่อความมั่นคง (โรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์) ครั้งที่ ๒ ณ ห้องประชุมสำนักงาน คปต.สน.  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ท.อำนาจ นาคศรี หัวหน้าสำนักงาน คปต.สน., ผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค ๔ สน., ฉก.จังหวัดยะลา, ฉก.จังหวัดปัตตานี, ฉก.จังหวัดนราธิวาส, ฉก.สงขลา และ ฉก.นย.ทร.

            สำหรับผลสรุปสาระการประชุม ดังนี้ 1.โครงการโรงไฟฟ้าฯ ยังอยู่ในขั้นเตรียมการ ซึ่งการประชุมครั้งที่ ๑ ที่ผ่านมา ปรับยอดตำบลนำร่อง เป็น 12 ตำบล ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อเตรียมพื้นที่อย่างน้อย ๓๐ ไร่ ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณ

            2. โรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ จะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าโดยตรง

            3.ชุมชนในตำบล นำร่องทั้ง 12 ตำบล จัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยทางอำเภอรับรอง เพื่อร่วมทำ MOU กับนักลงทุน

             4.การแบ่งรายได้ในอัตราส่วนนักลงทุน 80 เปอร์เซ็นต์ ชุมชน 20 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะสัญญา 25 ปี                                  

            และ 5.การดำเนินการในขั้นตอนต่อไป กอ.รมน.ภาค 4  สน.(ผ่าน สมศ.ฯ) จะดำเนินการร่างโครงการในรายละเอียด เพื่อนำเสนอผ่าน หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อให้ช่วยผลักดันโครงการฯตามขั้นตอนให้เป็นรูปธรรมต่อไป

            อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลที่จะได้รับจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐ จะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 12,000 บาท/ปี  ระยะเวลา 25 ปี และยังสามารถนำรายได้ไปต่อยอดอาชีพอื่นๆ เช่น การทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงภายในครัวเรือน

            นอกจากนี้ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน

            ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่ง จะใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเด็กกำพร้า สตรี คนชรา รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติด และอื่นๆที่สภาสันติสุขตำบลเห็นชอบร่วมกัน 

            และที่สำคัญเมื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประชารัฐ สำเร็จ ชุมชนเกิดความอยู่ดีกินดีและจะมีส่วนร่วมและหนุนเสริมทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงให้ได้ภายในปี 2565  ตามกรอบห้วงเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล