The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ดะวะฮฺคืออะไร : ปริศนาข้อใหญ่ที่ใคร ๆ อยากรู้

บทความนี้ยาว กรุณาอ่านให้หมด เพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน

ดะวะฮฺคืออะไร? : ปริศนาข้อใหญ่ที่ใคร ๆ อยากรู้”

              คำว่า “ดะวะฮฺ” หรือ ญามาอะฮฺตับลีฆ” อาจเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ เพราะสื่อทุกช่องนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือเพจต่าง ๆ ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ “ท่ามกลางวิกฤติโควิด ชาวดะวะฮฺเอง (บางคน) ได้นำเสนอคลิปที่อื้อฉาวพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นคลิปนั่งจิบน้ำชาตอนเย็นที่บอกว่า “หลายคนกลัวกลัวโรคมากกว่ากลัวอัลลอฮฺ” หรือบางคลิปที่พูดถึง “โคโรนา ซึ่ง ญามาอะฮฺ ไม่กลัวโคโรน่า ที่ไหนมีโครโรนา ดะวะฮฺจะไปที่นั่น”

         อ่านถึงตรงนี้อยากให้ทุกคนมีสตินะครับ !!!

          กลุ่มที่นำเสนอก็ต้องมีสติ กลุ่มที่ได้เห็นคลิปก็ต้องมีสติและการแชร์ต่าง ๆ ก็ต้องมีสติ เพราะทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ที่สติและการเปิดใจ เพราะในบทความของผม “ความเข้าใจสำคัญกว่าความรู้” (https://www.facebook.com/uptoku.mukem/posts/2962803297280007 ) ซึ่งผมเองได้บอกว่า “แม้สัจธรรมจะอยู่ตรงหน้า หากปิดตาก็พร่าเลือน” ด้วยเหตุนี้ วิกฤติเช่นนี้ ทุกคนต้องมีสติ

          แม้บางคนบอกเตือนผมว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ควรนำเสนอเพราะมันล่อแหลม ใช่ครับ มันล่อแหลม อาจเป็นสาเหตุให้ใครหลายคนมาด่าคนมุสลิม ผมเข้าใจ “แต่ความจริง มุสลิมก็สมควรโดนด่านะครับ ในเวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อัดคลิป เพราะมันไม่ใช่เวลาที่เราจะมีแสดงอะไรขวางโลกแบบนี้”

           หากคนอื่นจะด่ามุสลิม หรือ มุสลิมจะด่าดะวะฮฺ ผมบอกว่า “ก็ด่าไปเถอะครับ” เพราะการด่า คือ สัญญาณแห่งความผิดพลาดและเตือนสติ เพื่อการปรับตัวแก้ไข หากไม่มีใครด่าบ้าง เราก็จะทำอะไร ตามใจเรา “ไม่ฟังใคร หรอยพุ่ง”

             ด่ากัน เตือน กัน และรักกันด้วยสติ เผื่อเขา เรา ท่าน และทุกคน ได้ปรับตนเองและจูนเข้าหากันครับ แน่นอนการนำเสนอคลิปของพี่น้องดะวะฮฺนั้น ไม่มีอะไรที่จะต้องพูด เพราะภาพมันฟ้องและถือเป็นการกระทำที่ “กร่างและไม่สมควรปกปิด” จนมีบางคนถึงกลับบอกว่า มี คลิปนั้นทำให้คนด่ามุสลิม

           เอาตามความจริงนะครับ ผมเป็นหนึ่งในมุสลิม และตอนนี้บุคคลที่สังคมควรด่าในลำดับต้น ๆ คือ “คนมุสลิม” อย่าเสียใจที่คนอื่นด่าเราครับ แต่ควรมีสติแล้วตั้งคำถามว่า “เขาด่าเราทำไม?”

           เพราะวิดีโอจากคลิปคือ คนมุสลิม แม้จะเพียงกลุ่มเล็ก ซึ่งแน่นอน เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างยิ่งในมุมมองของทุกคน แม้บางคนอยากจะพูดหรือ รำคาญ กระนั้น อัดคลิปในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องตาม “หลักการของดะวะฮฺ” หรือ “อุโซลดะวะฮฺ” เพราะหัวใจหลักของกลุ่มดะวะ คือ “การให้เกียรติผู้อื่น” หรือ “อิกรอมมุสลิมมีน” ซึ่งผมไม่เห็นว่า การอัดคลิปดังกล่าวให้เกียรติคนอื่นตรงไหน นอกจาก “กร่าง” และสร้างความเสื่อมเสียให้กับมุสลิมภาพรวม

           ถึงวันนี้ ประเด็นนี้คงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมมุสลิม รวมทั้งดะวะฮฺเองที่จะต้องปรับตัวและแก้ไขปรับปรุงกันไป เพราะนับวันยิ่งโด่งดังเป็นพิเศษ แน่นอน ต้องถูกกล่าวว่าและถูกโจมตีเป็นธรรมดา แม้ชาวดะวะฮฺบางคนออกมาบอกว่า “สังคมไทยมองกลุ่มตนเอง เป็นแกะดำและถูกโจมตี” แต่สิ่งที่ควรต้องถามตัวเองให้มากคือ “ทำไมถึงถูกโจมตีและทำไมจึงถูกมองเป็นแกะดำ” อันนี้ต่างหากที่ต้องถามตัวเองให้มาก  

           ท่านจุฬาราชมนตรี รวมทั้งผู้นำตับลีฆ เพราะ ผู้นำตับลีฆออกมาประกาศแล้วว่า ให้ชาวดะวะฮฺแต่ละประเทศตามท่านจุฬาราชมนตรีของประเทศนั้น ๆ ” กระนั้นก็ยังมีชาวดะวะฮฺบางคนถึงกลับโพสต์ว่า

           “ จะตามท่านจุฬา หากคำสั่งนั้นไม่ขัดกับท่านศาสดาและอัลลอฮฺ แต่การประกาศไม่ให้ไปมัสยิดนั้น ขัดขืนคำสั่งท่านนาบีที่บอกว่า ให้รักษาละหมาดที่มัสยิด ด้วยเหตุนี้ เราไม่ตาม”

              ไม่ว่าจะอย่างไร เหล่านี้คือ บททดสอบสำคัญและชาวมุสลิมในประเทศไม่ว่าจะดะวะฮฺหรือไม่ใช่ดะวะฮฺ ต้องหันมาทบทวนตัวเองกันเป็นพิเศษ เพราะสื่อ คลิป โรคและวิกฤติมันฟ้องซึ่งไม่สามารถหลุดพ้นจากคำดุด่าและโจมตีได้ในเวลานี้

อีกอย่างการขัดขืนคำสั่งของท่านผู้นำอิสลามดังกล่าวก็ถูกสำแดงให้เห็นโดยอำนาจของอัลลอฮฺแล้วว่า  “มุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มดะวะฮฺนั้นติดโควิดกันกี่คน !!!”

              “แล้วอะไรคือดะวะฮฺ”

            คำถามนี้ค่อนข้างกว้างพอสมควร จะขอตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ “ดะวะฮฺ” คือ “กลุ่มชาวมุสลิมที่ออกมาขับเคลื่อนเพื่อฟื้นฟูตัวเองให้เป็นบ่าวที่ดี” ซึ่งไม่ต่างจาก “การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั่วไป หรือ กลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ แต่กลุ่มดะวะฮฺ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง แต่พวกเขา ขับเคลื่อน เพื่อสร้างความรักและความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคมมุสลิมและสังคมโลก

           พวกเขาจึงเน้นการเยี่ยมเยือน การไปมาหาสู่ การดูแล การช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการดะฮฺคือ (1) เน้นการสร้างความศรัทธาในเรื่องของพระเจ้าและศาสดา (2) การละหมาดที่สงบนิ่ง (3) การหาวิชาความรู้และการรำลึกถึงพระเจ้า (4) การช่วยเหลือและให้เกียรติซึ่งกันและกัน (5) การสร้างความบริสุทธิ์ใจในการกระทำ  (6) การเสียสละในหนทางของพระเจ้าทั้งเวลา ทรัพย์สินและร่างกาย

            นั่นก็คือ คำตอบที่ พวกเขาไปทั่วโลกในนาม 3 วัน 40 วัน 4 เดือน เพื่อเสียสละและสร้างความศรัทธาให้กับตนเอง ด้วยการรักษาเงื่อนไขและกฎอย่างเคร่งครัด

             “ถึงตอนนี้ ทุกคนจะสะอึก เพราะ ภาพที่ปรากฏในสื่อและคลิป เวลานี้มันคนละเรื่องกัน ผมขอบอกนะครับ ว่า นั่นคือ บางคน เพราะดะวะฮฺ ส่วนใหญ่ยึดมั่นในหลักคำสอนของกลุ่มอย่างเคร่งครัด”

             เพราะบางครั้งมีดที่มีประโยชน์ หากนำมาใช้ผิด ก็ให้โทษได้ครับ

                กลุ่มดะวะฮฺนี้มีอยู่ทั่วโลกและในทุก ๆ ประเทศก็จะมีผู้นำที่เราเรียกว่า “อามิร” ซึ่งในประเทศไทยก็มีศูนย์กลางของดะวะฮฺ 2 แห่งคือ มัรกัสมินบุรี และมัรกัสยะลา

              ดะวะฮฺก่อตั้งจนถึงวันนี้ประมาณ 100 ปีพอดี หรือก่อตั้งในปี 1920 ณ ประเทศอินเดียโดย “ ท่านเมาลานาอิลยาส คานดะฮฺลาวี” ซึ่งเป็นศิษย์จากสถาบันสอนศาสนาดารุลอูลุม ดิวบาน หลังจากจบการศึกษาจากที่นั่นก็ได้มาก่อตั้ง “กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเติมเต็มศรัทธา” นั่นคือ “ดะวะฮฺ” หรือ “ญามาอะฮฺตับลีฆ” และมีชุมชนนำร่องในการเคลื่อนไหวของกลุ่มดะวะฮฺ คือ  “ชุมชนแมวาต” ซึ่งไม่ไกลจากเดลี และปัจจุบันมีศูนย์กลางของญามาอะตับลีฆใน “มัรกัสนิซอมุดดีน” ในประเทศอินเดีย “มัรกัสไรวินด์” ปากีสถาน และมีการชุมนุมที่ค่อนข้างใหญ่ที่สุดในโลกในรอบปีที่ “โยร์ตุงกี” ประเทศบังกลาเทศ

               จิตวิญญาณเดิมของกลุ่มนี้คือ เน้นการฟื้นฟูศรัทธาของชาวมุสลิมในประเทศอินเดีย หลังจากถูกอาณานิคมอังกฤษเข้ายึดครอง วิถีชีวิตของมุสลิมเริ่มเปลี่ยนไป จนกลุ่มนี้ขับเคลื่อนเพื่อให้มุสลิมเป็นบ่าวที่ดี ได้ละหมาด และประกอบศาสนิกจอย่างสมบูรณ์แบบ การเริ่มต้นฝึกฝนดังกล่าว จึงชักชวนกันออกไปตามมัสยิดต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “ออกดะวะฮฺ” ทั้ง 3 วันในรอบ 1 เดือน 40 วันหรือ 4 เดือนในรอบ 1 ปี หรือ ท่านผู้รู้หลังจากเรียนจบต้องออก 1 ปี เพื่อปรับปรุงนิสัยและฟื้นฟูพฤติกรรมตัวเองให้เป็นไปตามหลักคำสอนของท่านศาสนา ทั้งการกิน การดื่ม การใช้ชีวิต การแต่งกาย และอื่น ๆ

             จึงไม่แปลกที่กลุ่มคนดะวะฮฺ จะแต่งกายเหมือนกันหมดคือ ใส่เสื้อละหมาด กางเกงหรือผ้าถุงสโร่ง มีไม้ถูฟันหรือ “มิสวาก” หิ้วกระเป๋าเดินกันเป็นแถว หรือไปไหนพร้อมกันเป็นกลุ่ม ๆ  เดินออกเยี่ยมเยือนตามชุมชนต่าง ๆ ในทุก ๆ 2 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งออกไปนอนในมัสยิดที่เป็นศูนย์กลางตามพื้นที่ส่วนต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “ฮัลเกาะฮฺ” ใน 1 วันต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากมาย หากผู้อ่านสนใจ สามารถมาซักถามผู้เขียนได้ครับ

              จากการรายงานของเอฟบีไอ ในอเมริกา พบว่า กลุ่มผู้คนของดะวะฮฺมีการเคลื่อนงานในประเทศอเมริกานั้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน  จากการสำรวจในปี 2008 พบว่า ดะวะฮฺมีการเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 150 ประเทศ และมากกว่า 80 ล้านคน (ฝรั่งเศส 1 แสน, เกรกิสถาน 1 หมื่น,อเมริกา 5 หมื่น,อินเดีย มากกว่า 30 ล้าน , ปากีสถาน  มากกว่า 25 ล้าน, บังกาลาเทศ มากกว่า 30 ล้าน) และกลุ่มประชากรส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประชากรในเอเชีย

              ผู้นำของตับลีฆก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลังจากท่านเมาลานาอิลยาส คานดะฮฺลาวีได้เสียชีวิต งานดะวะฮฺก็ได้สานต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะเป็น (1) ท่านเมาลานาอุมัร ปะลัมปุรี (2) ท่านเมาลานาอิน เอ็มมุล ฮาซัน  (3) ท่านเมาลานายุสบ (4) ท่านบัย วาฮับ ซับ (5) ท่านเมาลานาซุเบรและ (6) ท่านเมาลานาสะอัด

               ทั้งหมดเหล่านี้ถูกแต่งมาเพื่อสานต่อเจตจำนงแห่งการฟื้นฟูหลักปฏิบัติศาสนาให้เข้าถึงชึมชนมุสลิมที่ถูกกัดกินและสึกหรอไปตามกาลเวลา ดะวะฮฺจึงเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในสังคมมุสลิมทั่วโลก เนื่องจากพวกเขาให้เวลากับศาสนาอย่างจริงจัง รักษาการออก 3 วัน  40 วัน 4 เดือน รวมทั้งให้เวลาอยู่กับมัสยิดในการจัดการตนเองในฐานะเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺและเป็นศาสนิกที่ดีของประเทศมาโดยตลอด

              การออกดะวะนั้น ไม่ได้เงินสนับสนุนจากองค์กรใด ๆ ต่างจากกลุ่ม NGO หรือ กลุ่มภาคประชาสังคมอื่น ๆ แต่สำหรับกลุ่มดะวะฮฺ ผู้ที่ออกนั้นจะต้องทำงานเก็บเงินด้วยตัวเอง เสียสละทั้งเวลา ทรัพย์สิน ร่างกายเพื่อปรับปรุงตนเอง ก่ออกจะมีการทำงานเก็บเงิน เพื่อเตรียมไว้ให้กับตัวเองที่จะออกไป และปัจจัยยังชีพให้กับครอบครัวที่อยู่ทางด้าน การดูแลจัดการบ้านช่องและลูก ๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดความยากลำบากในขณะตนเองไม่อย่ประมาณ 3 วัน หรือปีละ 40 วันหรือ 4 เดือน
"ผู้เข้าใจระบบและเคร่งครัดในภารกิจของดะวะฮฺ จึงต้องจัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้กับครอบครัวที่อยู่ข้างหลังและตนเองที่จะออกไป"

               ส่วนผู้ที่ไม่ออกไป ก็มีหน้าที่ดูแลครอบครัว ให้การบริการครอบครัวของคนที่ออกไป ตลอดจนติดตาม ดูแลและไปเยี่ยมเยือนญามาอะฮฺนั้น ๆ ความเข้มแข็งดังกล่าว จึงทำให้มีประสิทธิภาพและมวลชนในการขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ

กลุ่มดะวะฮฺ จึงเป็นกลุ่มหลักของชาวมุสลิมที่มีการรวมตัวและขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในสังคม เพราะกลุ่มนี้มีการรวมตัว ที่เราเรียกว่า “โยร์” หรือ “ชุมนุมทางศาสนา” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเรือนแสน

               แน่นอน พลังของกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งและน่าเคารพนับถือ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์บางเกี่ยวกับเรื่องหลักปฏิบัติ หรือ หลักการยึดมั่นกับพระเจ้าที่เน้น

“ทุกอย่างมอบหมายแด่อัลลอฮฺ”
 
            จนเกิดการคัดค้านจากมุสลิมหลายกลุ่ม รวมทั้งการทิ้งลูกทิ้งเมีย ไม่ทำงานหรืออื่น ๆ ก็ไม่ใช่เป็นประเด็นที่น่าสนใจเท่าไหร่

             เพราะวิธีปฏิบัติของชาวดะวะฮฺนั้นชัดเจนในการคล้อยตามแบบฉบับของท่านศาสดา การจัดการเรื่องเวลา ภาระหน้าที่ ในขณะออกญามาอะฮฺ (ซึ่งส่วนน้อยที่ปัญหาเรื่องนี้ เพราะส่วนมากจะจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์) อีกทั้งพวกเขาสามารถรักษาแบบฉบับของท่านศาสดาและค่อนข้างชัดเจนกว่ามุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครค้าน เช่น การใช้ไม้มิสวากในการถูฟัน การนอนในท่าที่ท่านศาสดาสอน การรักษาละหมาดที่มัสยิดเป็นประจำ การแต่งกายในรูปแบบของอิสลาม

               จนกระทั่งชุดที่มุสลิมหลายคนสวมใส่เรียกติดปากกันว่า “ชุดดะวะฮฺ” ซึ่งอิทธิพลของกลุ่มนี้กับสังคมคมไทยนั้นค่อนข้างมากมายและน่าเคารพนับถือ  หลังจากที่แนวคิดดะวะฮฺจากอินเดียได้เข้าสู่ประเทศไทยผ่านการนำของ ท่าน บาบา ยูสบคาน นั้น ดะวะฮฺก็กระจายไปยังทุกภาคส่วนของสังคมไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งชุมชนไกลปืนเที่ยง ทุกคนก็รู้จักดะวะฮฺ โดยเฉพาะตอนนี้เริ่มโด่งดังมากเป็นพิเศษ

              หลังจากมีการนำเสนอพฤติกรรมก้าวร้าวและท้าทายความเชื่อของชาวมุสลิมคนอื่น ๆ รวมทั้งความศรัทธาของสังคมไทย การอัดคลิปเพื่อยืนยันความเชื่อตนเองใน “การท้าทายโควิด” จึงสะท้อนภาพลบให้กับดะวะฮฺและชาวมุสลิมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในห้วงยามที่ประเทศชาติของเรามีบาดแผลร่วมกัน อีกทั้งดะวะฮฺ ในทุกวันนี้ก็เริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจาก มีปัญหาภายในองค์กร มีการแตกแยกอย่างชัดเจนจนถึงขั้น “แยกมัรกัส” หรือ “มัสยิดศูนย์ดะวะฮฺ” กันอย่างชัดเจนเนื่องจาก ปัญหาหลักคือ “การยึดติดตัวผู้นำจนเลยเถิดและสุดโต่ง” ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มที่ตามปากีสถานที่เรียกตนเองว่า อาลามี และกลุ่มที่คล้อยตามอินเดียนั้นเรียกตนเองว่า “สะอะดี”

             ปัจจุบัน 2 กลุ่มนี้มีความขัดแย้งระหว่างกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเป็นที่มาของวิกฤติในองค์กรที่ขาดเสาหลักและความศรัทธาที่ชัดเจน อีกทั้งมันคือ บททดสอบที่พระเจ้าส่งมายังกลุ่มคนดะวะฮฺ โดยตรง เพราะ ทุกบททดสอบนั้นคือ “การให้สัญญาณเตือนเพื่อตรวจสอบตนเอง” หรือ “เช็คอาม้าล” นี่คือ สิ่งที่เมาลานาอิลยาสกล่าวไว้เมื่อศตวรรษที่แล้ว แม้คนดะวะฮฺจะอ่านเฟสของผม ก็โปรดเข้าใจด้วยว่า “นี่คือวิกฤติและบททดสอบสำคัญของชาวดะวะฮฺ” “นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ” บวกกับการที่ดะวะฮฺบางกลุ่มถ่ายคลิปดังที่เป็นข่าว รวมถึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อโควิด ซึ่งไม่ต้องแปลกใจที่จะมีคนหลายคนต่อว่าและไม่เห็นด้วยกับดะวะฮฺ 

                มากกว่าไปตำหนิคนอื่นรอบข้าง  ขณะนี้ ชาวดะวะฮฺก็ต้องหันมาตรวจสอบตนเอง !!!

              นอกจากนี้ บทเรียนเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนผู้นำชาวดะวะฮฺ และจะต้องยอมรับว่านี่คือ บททดสอบที่พระเจ้าส่งมาเพื่อท้าทายผู้นำดะวะฮฺที่แตกแยกกันอเองภายใน ทั้งท่านอาบุบัย / อับดุรเราะฮหมาน โกลก / อับดุรเราะฮหมาน พัทลุง / อับดุรเราะฮหมาน สงขลา / อับดุรเราะฮหมาน รามคำแหง / ฮัจยี อับดุลกอเดร บ้านป่า / ฮัจยีญะฟัร สงขลา / อุสตาสมะมุด ยะลา / ครูเหม สะเดา หรืออีกหลาย ๆ ท่านที่ดูแลรับผิดชอบ (ขออนุญาตอ้างอิงถึงตัวบุคคลเหล่านี้เพราะเป็นผู้นำของกลุ่ม)

             ซึ่งจะต้องหันมาจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการแตกแยกของสะอะดี (อินเดีย) และ อาลามี (ปากีสถาน) รวมทั้งการแสดงพฤติกรรมที่ขวางโลกของสมาชิกบางคนของกลุ่มดะวะฮฺ แม้จะเป็นเพียงคนส่วนน้อยของดะวะฮฺ แต่ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศเดือนร้อนไปด้วยในเวลานี้ ซึ่งแน่นอน การกระทำดังกล่าว “ผิดต่อหลักการหรืออุโซลของดะวะ” ว่าด้วย “อิกรอมมุสลิม” หรือ “การให้เกียรติต่อคนอื่น” เป็นแน่แท้

            หากมีการปรับปรุงและหันมากำชับ ตลอดจนทบทวนการทำงานของสมาชิกให้รักษาอุโซลดะวะฮฺ และเน้นการตะเล็มอย่างเข้มข้นเหมือน 10-20 ปี ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวินัยต่าง ๆ เช่น

  1. ให้มาก (การชักชวน การเรียนการสอน ปฏิบัติศาสนกิจ การบริการ)
  2. ให้น้อย (กิน นอน การพูดจาในเรื่องของโลก การออกจากมัสยิด)
  3. ให้ห่างไกล (การหวังจากผู้อื่นนอกจากอัลลอฮฺ การขอจากผู้อื่นนอกจากอัลลอฮฺ การสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือย การใช้ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต)                                                                                                                        
  4. ห้ามเด็ดขาด (เรื่องข้อขัดแย้งทางศาสนา เรื่องการเมืองในและต่างประเทศ เรื่องฐานะและตำแหน่ง เรื่องการขอบริจาคและการกระทำที่เสียเกียรติทางสังคม)

             หากมีการเข้มงวดในกฎเหล่านี้ ดะวะฮฺก็คือ กลุ่มหนึ่งที่สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยอย่างมากมาย

           " ด้วยความเคารพและความเข้าใจอันดีในสังคมไทย"

           -เอ. อาร์. มูเก็ม-
            11 เมษายน 2563

Abdunrohman Mukem , PhD
Academic Researcher of South Asian Studies Centre,
Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University THAILAND

      ปล. บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพราะเกิดจากการร้องขอจาก

      ดร. บัณฑิต อารอมัน ที่อยากให้นำเสนอ

     อ.จตุพร สุวรรณสุขุม เพื่อนร่วมมงานที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ตั้งคำถาม และ ดร. รุสตั้ม หวันสู ที่คอยยุให้เล่าเรื่อง

      รวมทั้งคุณภรรยา ฟาริดา มูเก็ม ที่คอยบอกเล่าข้อมูลข่าวสาร

      ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจ ทั้งเพื่อนอาจารย์ นักวิชาและบุคลากรจากรั้วจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และพี่น้องทุกคนที่ส่งข้อความมาเกือบทุกวัน ขอบคุณมากครับ