The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เผา..แล้วเหลืออะไร

เผา..แล้วเหลืออะไร

โดย: บันฑิตย์ สะมะอุน

          สำนักข่าวอะลามี่ : เหตุการณ์ที่นับว่าสะเทือนความรู้สึกของคนทั่วโลก คือ การเผาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีจำนวนมากมายนัก

           โดย บาทหลวงประจำโบสถ์เล็กๆในรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา   บอกว่า ลักษณะที่มองเห็นคือ มีความต้องการให้เกิดความบาดหมางกัน ระหว่างอิสลามกับคริสเตียน ด้วยการปลุกกระแสศาสนจักรให้เข้มแข็ง

            " ลึกๆแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ผ่านมา นอกจากจะเห็นภาพของความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิว หรือ อาหรับกับมหาอำนาจ แล้ว มันยังมีความขัดแย้งแย้งระหว่างอิสลามกับคริสเตียน เป็นเงาซ้อนอยู่ด้วย ระวังจะถูกรุมกินโต๊ะคือ คำพยากรณ์ที่เคยให้ไว้"

           ทฤษฎีการสร้างภาพความกลัวให้เกิดขึ้นกับอิสลาม กำลังขยายขอบข่ายออกไปกว้างขึ้น

           ดังข่าวที่เกิดขึ้นมากมายต่อการสร้างภาพแห่งความกลัวกับอิสลาม การสร้างกระตูนล้อเลียนศาสดาอิสลาม การเขียนหนังสือเหยียดหยามศาสดาอิสลาม ฯลฯ  รวมถึงในวันนี้คือ...การเผากุรอาน 

            การตั้งรับกระแสเหล่านี้ของมุสลิมจะออกมาในรูปแบบไหน สอดคล้องกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด การตอบโต้กระแสข่าวเหล่านี้ของสังคมมุสลิมมีแนวโน้มออกมาในรูปของความรุนแรงและโกรธแค้น ตามช่องทางของประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้เกิดเรื่องราวเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

            การเผากุรอาน คือ การท้าทายแบบหลังชนฝา หรือ ชวนทะเลาะของคนที่มีอคติกับอิสลาม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของสังคม ที่ต้องมีคนรักคนเกลียด ในบางครั้งก็ไม่คุ้มที่จะเอาขมิ้นไปแลกกับเกลือ

           คนเพียงกลุ่มเล็กๆกลับสามารถทำให้อารมณ์แห่งความโกรธเคืองพุ่งขึ้นไปทั่วโลก คุ้มหรือไม่ ที่จะโกรธเคืองกับเรื่องนี้ กับการกระทำของคนที่คนในสังคมอมเมริกันเองก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

            การตอบโต้ด้วยการประจาน ประท้วง หรือประณาม ก็ไม่เป็นผลอะไร (เหมือนไม่รู้จะทำอย่างไร)

            เพราะทางออกในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระตามลัทธิประชาธิปไตยเปิดทางให้ แล้วเราก็จะเสียเวลาไปกับความขัดแย้งเหล่านี้ไปอีกมาก

           เรื่องราวเหล่านี้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผากุรอาน เรื่อง การสวมฮิญาบ มักถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับผู้คนในยุคนี้ ที่ทุกคนต้องการเรียกร้องสิทธิโดยละทิ้งหน้าที่ของตัวเอง เป็นความสมดุลที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงระหว่างคำว่าสิทธิและหน้าที่ 

           เผากุอานคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก

           แน่นอนว่าการเผากุรอานถูกตั้งคำถามในทางตำหนิมากกว่าเห็นด้วย นั่นเป็นสื่อให้มุสลิมเห็นถึงความคิด และความรู้สึกของคนทั้งโลกที่มีต่ออิสลาม

            ที่จริงแล้วกระแสส่วนใหญู่ของคนในโลกนี้ ไม่ได้มีอคติกับศาสนาอิสลาม ยกเว้นเพียงคนเล็กๆบางกลุ่ม ที่ในใจมีอคติกับอิสลาม ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

            ความอคติของคนสามารถแสดงออกอย่างรุนแรง/ไร้เหตุผลได้มากกว่าแค่การเผากุรอาน

            การโต้ตอบความอคติของคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญานอย่างรอบคอบ  เพราะอคติเกิดจากผลของความคิดที่เกลียดชังและอิจฉาริษยา และแน่นอนการตอบโต้อคติ ต้องไม่อยู่ในอารมโมโหและเคียดแค้น น่าจะต้องใช้ความรู้และสติให้มากกว่าสิ่งที่เห็นเบื้องหน้า

            ครั้งหนึ่งในอดีตช่วงขาลงของอิสลามในอินเดีย อินเดียซึ่งถูกปกครองด้วยระบบอิสลามประมาณ 800ปี เกิดเรื่องราวการทำลายล้างอิสลามอยู่มาตลอดสมัยการปกครอง เป็นความต้องการที่จะทำลายล้างระบบการปกครองแบบอิสลามให้หมดไปจากอินเดีย โดยการโจมตีสัญลักษณ์ทางศาสนา มีการเผามากมายเกิดขึ้น ตั้งแต่เผาอาคาร ศาสนสถาน วัด สุเหร่ามัสยิด โบสถ์ ล้วนถูกเผามาด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงการเผาคน และเผากุรอาน

             ประเด็นการเผากุรอาน ที่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย (ซึ่งต้องมีข้อมูลเรื่องการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งภายในประเทศ ฯลฯ ประกอบด้วย)  มีทางออกที่บรรดาอุลามาอฺอินเดีย ในยุคนั้นเคยให้แง่คิดไว้อย่างน่าสนใจ

             อุลามาอฺอินเดีย ให้ความเห็นว่า เมื่อเกิดการเผากุรอานจะจากใครก็ช่าง ควรต้องกลับไปยังจุดของปัญหา นั่นคือ กุรอาน

            การเผากุรอานไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้อิสลามสูญหายไปกับการเผา นั่นคือประเด็นที่ต้องเน้นถึงความสำคัญต่อเรื่องการเผากุรอาน

             ในความเป็นจริงแล้ว การเผากุรอาน เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดประวัติศาสตร์ เราน่าจะมาพิจารณาใหม่ว่า การเผากุรอานเป็นที่อนุญาติ หรือเป็นข้อห้ามในทัศนะอิสลาม เพราะหลายครั้งที่การเผากุรอานกลับเป็นการให้เกีรติเมื่อถุูกเผาโดยคนมุสลิมเอง เมื่อกุรอานชำรุด หรือกระดาษหมดสภาพ

            การต้านรับกระแสของความอคติที่น่าจะตรงจุดและถาวร การโกรธแค้นและตอบโต้กันไปมา ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากไปกว่าสร้างความบาดหมางกันให้ขยายกว้างในสังคม ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี

             ทางออกหนึ่งสำหรับสังคมมุสลิม คือ การสอน การอ่าน การท่องจำ และเรียนรู้ความหมายแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป้าหมายของกุรอานคือ การอ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจความหมาย และนำมาปฎิบัติกับชีวิตมากกว่าเป็นแค่เพียงเครื่องประดับ หรือเครื่องรางของขลัง

            ถึงแม้น กุรอานจะถูกเผาไปอีกเท่าไหร่ ตำราที่มุสลิมแต่งขึ้นถูกเผาทำลายไปอย่างมากมาย

           การแก้ปัญหาคือ การนำ  กุรอานและตำรามาไว้ในชีวิตและพฤติกรรม ไม่ใช่ไว้ในแผ่นกระดาษ หรือ แผ่นซีดี ฯลฯ ให้อัคลากอิสลาม เข้าสู่กระแสสังคมด้วยแนวทางของวิทยปัญญาและคำเตือนที่ดีงาม (ฮิกมะห์และเมาอีเซอะห์)