The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   โอไอซี กับสมการของการดับ “ไฟใต้”

โอไอซี กับสมการของการดับ “ไฟใต้”

             สำนักข่าวอะลามี่ : แม้ว่าสถานการความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกยืนยันจากรัฐบาล กองทัพ และ ทุกหน่วยงาน ว่า เป็นปัญหาภาคในของประเทศมาโดยตลอดก็จริง แต่องค์กรหลายๆองค์กรในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น” องค์กรเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” องค์กรสิทธิมนุษย์ชนต่างๆ รวมทั้ง องค์การการประชุมอิสลาม หรือ “โอไอซี” ต่างเฝ้าติดตามการพัฒนาของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าง “เกาะติด”

            และมีคำถามต่อรัฐบาลมาโดยตลอดว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของความไม่สงบภายในประเทศ เป็นเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องของการก่อการร้ายที่มีสาเหตุมาจากเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา และ เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนที่เป็น “มุสลิม” หรือไม่


               โดยเฉพาะคำถามและการติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากองค์การการประชุมอิสลาม หรือ “โอไอซี” เป็นคำถามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงและมีคนตายจำนวนมากเกิดขึ้น เช่น การตายหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ การตายหมู่จากกรณีประท้วงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส การตายหมู่ในมัสยิดอัลฟุรากอน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หรือ การละเมิดสิทธิมนุษย์ชน เช่น การอุ้มฆ่า อุ้มหายตัว และ การทำร้าย ทรมาน ผู้ต้องสงสัย จะมีคำถามและข้อสงสัยจาก “โอไอซี” ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

              ในขณะที่กลุ่มและแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลับฉวยโอกาสนำเรื่องที่เกิดขึ้น “ฟ้อง” ไปยัง “โอไอซี” ทุกครั้ง และมีการกล่าวว่า รัฐบาล กองทัพ และ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ ว่า เป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด รวมทั้งในการประชุม “โอไอซี” ทุกครั้ง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยายามอย่างยิ่งในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “โอไอซี” เพื่อที่จะได้เคลื่อนไหวในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                และในระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2555 ตัวแทนของ “โอไอซี” ซึ่งนำโดย นายคาเยส คาสเซม เอลมาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี และคณะ ได้เดินทางมาเยือนดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพบกับตัวแทนของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ เช่น แม่ทัพภาค 4 เลขาธิการ ศอ.บต. ผู้นำศาสนา ตัวแทนของภาคประชาชน เพื่อสอบถามถึงข้อข้องใจ และ ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งลงพื้นที่ไปพบปะกับตัวแทนผู้นำศาสนา ประชาชน และ ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านยุติธรรมชุมชน ด้านศาสนา  การศึกษา และ วิถีชีวิต รวมทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่

                ซึ่งการเดินทางมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ของ “โอไอซี” เป็นการมาติดตาม “การบ้าน” ที่ “โอไอซี” ได้ให้ไว้กับรัฐบาลในการประชุมใหญ่ของ “โอไอซี” ที่ประเทศสาธารณรัฐทาจิกิสถาน โดยในครั้งนั้น “โอไอซี” ได้ให้การบ้าน โดยให้ประเทศไทยทำการแก้ไข 4 ข้อ ด้วยกัน เช่น ต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับ “อัตลักษณ์” ของประชาชนในพื้นที่ ต้องมีการกระจายอำนาจการปกครอง เพื่อให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปกครอง  การอำนวยความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และสอบถามถึงเรื่องของกรือเซะและตากใบ ที่ต้องการให้รัฐบาลมีคำตอบและการเยียวยาที่ชัดเจน

                ดังนั้นในการเดินทางของตัวแทน “โอไอซี” ในครั้งนี้ จึงมาเพื่อดูว่า “การบ้าน” ที่เขาฝากไว้ทั้ง 4 ข้อ “รัฐบาล” หรือ หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ ได้ตอบโจทย์แล้วยัง อันแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในการเดินทางมารับฟังและดูข้อเท็จจริงครั้งนี้ เชื่อว่า “โอไอซี” คงจะได้เห็นถึงความพยายามในการ “ตอบโจทย์” ของรัฐบาล ต่อ “โอไอซี” ในระดับหนึ่ง เพราะ ในเรื่องการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตาม “อัตลักษณ์” และ “ชาติพันธุ์” ของคนในพื้นที่ ได้มีการส่งเสริมการศึกษา สนับสนุนการใช้ภาษมาลายูและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่

               ส่วนคำตอบในเรื่อง “กรือเซะ” และ “ตากใบ” นั้น มีการตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อวางกรอบในเรื่องของการคืนความเป็นธรรมด้วยการ “เยียวยา” ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่เป็นหนึ่งในการบ้านที่สอดคล้องกับนโยบายของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ ยุทธศาสตร์ ของ “ศอ.บต.” ในการอำนวยความเป็นธรรม เช่น นโยบาย “พาคนกลับบ้าน” การเคารพสิทธิมนุษยชน ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า การใช้กฎหมายความมั่นคง หรือ “ม.21” เพื่อเปิดโอกาสให้ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” เข้าสู่ขบวนการยุติธรรมโดยความสมัครใจ การพัฒนาการศึกษาและการอาชีพ การส่งเสริมศาสนา เพื่อสร้างคุณภาพให้กับคนในพื้นที่ และนโยบายเปิดพื้นที่ เพื่อการพูดคุยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยและเห็นต่างกับรัฐ ซึ่งมีอยู่ในมาตร 8 ของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ “โอไอซี” ด้วยชีวิตที่ดีกว่า

                 แต่สิ่งหนึ่งที่ “โอไอซี” ยัง “ข้องใจ” คือ เรื่องของการประกาศใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ “โอไอซี” มองว่า เป็นเรื่องการ “ลิดรอน” สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล” และ “กองทัพ” ต้องอธิบายถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย ของการใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” อย่างไร รวมทั้งต้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ต่างๆ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีการร้องเรียนไปยัง “โอไอซี” ตลอดเวลา ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะ การร้องเรียนที่เกิดขึ้น หลายครั้งไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง แต่เป็นการ “ฉวยโอกาส” ในการสร้างความขัดแย้ง และ การ “ป้ายสี” ของ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และของ องค์กรเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยการเอา “วิกฤติ” มาเป็น “โอกาส” เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

                 และแม้ว่า โดยภาพรวมของการเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ “โอไอซี” ในครั้งนี้ จะมีเสียงปืน เสียงระเบิด ความตายของ “ประชาชน” และ เจ้าหน้าที่รัฐ ให้เห็นตลอดระยะเวลา 3 วัน เพื่อ “ตอกย้ำ” ว่า สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่ และยังมีกลุ่ม “เยาวชน” ผู้นำนักศึกษา เข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนของ “โอไอซี” เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศที่มีการก่อความไม่สงบต่างเป็นเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการ “จัดฉาก” แต่ได้เห็น “ของจริง” โดยรวมจึงถือว่า การมาเยือนของคณะ “โอไอซี” ในครั้งนี้ มีภาพบวกกับพื้นที่ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ “โอไอซี” จะได้เข้าใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่าง “ศาสนา” อย่างที่มีหลายฝ่ายพยามที่จะให้เป็นและให้เข้าใจผิด

               โดยเฉพาะคำกล่าวของ นายซาเยส คาสเซม เอลมาสรี ตัวแทนของโอไอซี ที่ประณามการก่อการร้าย ว่า เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักศาสนา น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หลงผิดได้เห็นถึงความจริง ว่า สิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปฏิบัติการ สร้างความสูญเสียให้กับ “ประชาชน” ผู้บริสุทธิ์ เป็นแนวทางที่ผิดหลักศาสนา ผิดหลักมนุษยธรรม ที่แม้แต่ องค์การการประชุมอิสลาม หรือ “โอไอซี” ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ ที่เป็นประเทศมุสลิม ก็ต่อต้าน และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

               ดังนั้น ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จึงควรที่จะหยุดการใช้ความรุนแรง และกลับมาใช้ “สันติวิธี” ในการร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ จึงเป็นหนทางที่ “บีอาร์เอ็น” ควรนำไป “พิจารณา”

ไชยยงค์ มณีพิลึก รายงาน

 ที่มา: http://www.pastnews.org/?p=5440