The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กับนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เคยสัญญาไว้"

"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"กับนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เคยสัญญาไว้

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ ,ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ

Shukur2004@chaiyo.com; http://www.oknation.net/blog/shukur


             ยังจำภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใส่ผ้าคลุมผมสีแดง อุ้มเด็กและแวดล้อมด้วยสตรีมลายูมุสลิมชายแดนใต้ และคณะ อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค เพื่อไทย   พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิติภูมิ นวรัตน์ เดินทางไปหาเสียงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก

             พร้อมกับประกาศนโยบายให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ คล้ายกับกรุงเทพฯหรือเมืองพัทยา ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะไม่เน้นเรื่องความรุนแรง จะใช้วิธีพูดคุย ส่งเสริมและพัฒนามากกว่า 

           แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าคนของพรรคเพื่อไทยไม่ผ่านการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียวในสนามการเลือกตั้งภาคใต้  ทำให้เกิดวาทกรรม ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ชอบธรรมที่จะนำนโยบายเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ มาใช้เป็นนโยบาย  การเมืองนำการทหารโดยเฉพาะถูกต่อต้าน จากฝ่ายความมั่นคง ข้าราชการและพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างประชาธิปัตย์

          สำหรับผู้เขียนมองว่า หาก พรรคเพื่อไทย ไม่ชอบธรรม ที่จะนำนโยบายการกระจายอำนาจดังกล่าว มาใช้ในภาคใต้ที่เคยสัญญาไว้    พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ชอบธรรมในทุกนโยบายที่จะมาใช้ในภาคใต้เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนปริญญาตรี  1,5000 บาท  ค่าแรงงานขั้นต่ำเริ่มที่ 300 บาทต่อวัน    ข้าวเปลือกขาวเกวียน 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาทและอื่นๆ

          เพียงแต่ การเดินหน้านำนโยบาย การกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดังกล่าว ควรให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการนำเสนอโมเดล(รูปแบบ) การปกครองก่อนการประกาศใช้เป็นกฎหมายแต่ก็ควรกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนด้วยเช่นกัน

          ในขณะที่การบริหารภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ บต) ที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์คุยนัก คุยหนา ว่าเป็นการกระจายอำนาจให้คนพื้นที่มีอำนาจในการร่วมคิด ร่วมทำ  ร่วมเสนอ  ร่วมอนุมัติจากคนในพื้นที่ ก็ให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง     

           สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษดังกล่าว รัฐบาลควรนำองค์ความรู้มาศึกษาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากนักวิชาการที่ได้ศึกษาในโมเดลต่างๆ

           โดยเฉพาะร่างของคณะทำงานการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย  ภายใต้ความร่วมมือของ เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร/ เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น/ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้/ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี/ คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง/ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ......เพราะร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการทางวิชาการและการลงพื้้นที่กว่าห้าสิบเวทีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                อันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมยิ่งขึ้นต่อรัฐบาลในการนำนโยบายมาใช้หากเกิดความผิดพลาดประชาชนในพื้นที่จะช่วยเป็นเกราะกำบังให้กับรัฐบาล

              ขณะเดียวกันการอธิบายให้กับคนภายนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายแนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

             อันเนื่องมาจาก แนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ไม่ใช่การปฏิเสธอำนาจรัฐ และไม่ใช่ก้าวแรกของการแบ่งแยกดินแดน การให้ท้องถิ่นดูแล หรือปกครองตนเองนั้น หมายถึง การให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นให้เป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยที่สามารถ “ออกแบบบ้านของตัวเอง” ได้บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ 

            เพราะหัวใจของประชาธิปไตย คือ การที่ประชาชนได้ปกครองตนเอง (Self Government) มิใช่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเท่านั้น

            การจะหวนกลับคืนสู่สาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย เพื่อมิให้อำนาจของประชาชนมีเพียง 4 วินาทีใน 4 ปีที่คูหาเลือกตั้งนั้น จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทในการปกครองตนเองมากขึ้น

           ซึ่งแนวคิดการปกครองตนเองนี้มิได้ปฏิเสธนักการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร หากแต่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรที่จะให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำในการดูแลบ้านเมืองของตนเองให้มากขึ้น มิใช่ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รอรับบริการหรือรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง อันมีความหมายรวมถึงการมีอำนาจในการต่อรองและการตัดสินใจเพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม การสาธารณสุข หรือการพัฒนาชุมชน        

            ที่สำคัญหลักการปกครองตนเองได้ถูกประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดเจนในมาตรา 281 ว่า ....
“ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

            ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ระบุให้รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอิสระในการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้หลักบูรณภาพแห่งดินแดนอันแบ่งแยกไม่ได้ โดยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะต้องไม่แทรกแซงการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ รัฐจะต้องกระจายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ อำนาจการตัดสินใจ และอำนาจการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปรับลดบทบาท ตลอดจนลดการกำกับดูแลของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลง เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะคงไว้ก็แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การพิจารณาพิพากษาคดี การต่างประเทศ และการเงินการคลังของประเทศโดยรวมเท่านั้น

             ในทางปฏิบัติ รัฐจะต้องจัดให้มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้อง “ก้าวให้พ้นไปจากการควบคุมกำกับ ไปสู่ความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างรัฐและภูมิภาคที่อยู่ในฐานะควบคุม กำกับ สั่งการ มาเป็นความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาที่มีความเท่าเทียมกันในแนวนอนแทน โดยจะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบใหม่” 

              โดยกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและของประเทศชาติ แต่จะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้ ซึ่งหากขัดต่อหลักการปกครองตนเอง รัฐก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งระบุว่าหลักเกณฑ์ของการกำกับดูแลควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างกันในหลายรูปแบบ เพื่อให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกไปปฏิบัติเองตามความเหมาะสม

              หรือ การกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว  ควรทำไปพร้อมกับจังหวัดจัดการตนเองอื่นๆที่พร้อมอย่างเช่นเชียงใหม่มหานคร ที่กำลังเรียกร้องอยู่เช่นกัน 

              ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจในแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างบริสุทธิใจของรัฐบาลใหม่ และขอให้ทุกคนสุขสรรค์ในเดือนรอมฎอนและวันตรุษอิดิลฟิตร์ ของชาวมุสลิมทุกท่าน