The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เปิดคำชี้แจง

เปิดคำชี้แจง"อิหม่ามเฟาซัน หลังปูเต๊ะ" หลังถูกยื่นถอดถอนอิหม่าม

             สำนักข่าวอะลามี่: อิหม่ามพัฒนา (เฟาซัน) หลังปูเต๊ะ ออกแถลงการณ์ ตอบโต้ข้อเท็จริง หลังจากที่มีการร้องถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยข้อมูลดังกล่าวเป้นการออกแถลงล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11กันยายน 2554  โดยระบุถึง กรณีเกี่ยวกับกรณีข่าวลือที่เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของ นายมนูญพันธ์ รัตนเจริญ

              ตามที่ได้มี นาย.....................   ร้องเรียนให้ถอดถอนข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดต้นสน แขวงธนบุรี เขตธนบุรี  จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดข่าวลือในทางที่ไม่สร้างสรรค์ มีการใส่ร้าย หมิ่นประมาท และก่อให้เกิดเข้าใจผิดกันไปต่างๆนาๆ  เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความแตกแยก  ความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของอิหม่าม และของคณะกรรมการมัสยิดต้นสนได้  

            ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้สัปปุรุษ  ผู้ที่ได้รับทราบข่าว ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายได้รับทราบถึงเหตุผล และความเป็นจริง ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้ กอ.กทม.ได้รับทราบในประเด็นต่างๆ ไปแล้ว ดังนี้

               ๑).เรื่องโต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.กทม.ว่าการบริหารองค์กรสำนักงานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย  มีเหตุผลดังนี้

                สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือที่ สกอท.หนังสือที่ สกอท.๐๓.๐๔๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๑มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง แจ้งการขาดคุณสมบัติของกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร สรุปความได้ว่า กอท.ได้มีมติให้ถอดถอน กอ.กทม.จำนวน ๒๖ รายให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว   และต่อมาได้มีหนังสือที่ สกอท.สกอท.๐๘/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ เรื่อง ขอส่งสำเนาหนังสือแจ้งการขาดคุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ทราบว่าได้ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

            แต่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ประกาศให้มีการพ้นจากตำแหน่งในราชกิจจานุเบกษา และไม่จัดให้มีการคัดเลือก กอ.กทม.จำนวน ๒๖ ราย ดังกล่าวโดยโต้แย้งว่ามติที่ประชุม กอท.อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้มีหนังสือที่ สกอท.๐๓.๐๕๖/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ยืนยันความถูกต้องของกระบวนการถอดถอน  

               ขณะนี้ทั้ง อดีตรมว.มหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีระกุล) และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายมานิต วัฒนเสน) ถูก ปปช. ให้ดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  และได้ทราบว่าขณะนี้ ปปช.สอบสวนพยานเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะชี้มูลเร็วๆ นี้ 

              การถอดถอนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๗ มิใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทย  กระทรวงมหาดไทย ก็มีหน้าที่เพียงประกาศรายชื่อและจัดให้มีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแทนตำแหน่งที่ว่างเท่านั้น  กระทรวงมหาดไทยไม่อาจยับยั้งการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ (ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๓๐/๒๕๔๘)   

              ๒).กรณีถูกกล่าวหาว่าอิหม่ามบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการแจ้งให้ กอ.กทม.มาทำการคัดเลือกกรรมการมัสยิดที่ครบกำหนดตามวาระ และที่ได้ถึงแก่ความตาย

            ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด พ.ศ.๒๕๔๒ ในข้อ ๕ กำหนดว่า "เมื่อตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดว่างลง  ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดแจ้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง"   และในข้อ ๗ กำหนดว่า "เมื่อต้องมีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ..." 

              ดังนั้น หน้าที่ในการแจ้ง และจัดทำบัญชีจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด มิใช่หน้าที่อิหม่าม

               ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีองค์ประกอบตามมาตรา ๓๐  คือ "ให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดคณะหนึ่ง ประกอบด้วย (๑)อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ      (๒)คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ (๓)บิหลั่นเป็นรองประธานกรรมการ และ(๔)กรรมการอื่นตามจำนวนที่ที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นกำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบสองคน"  

                เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าในฐานะอิหม่ามเพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ดังที่ผู้ร้องเรียนร้องเรียน  หากแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดที่จะต้องใช้ร่วมกันโดยเป็นมติ  ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบทุกประการ แต่เหตุแห่งความล่าช้านั้นเกิดจากการที่ กอ.กทม.ได้สั่งให้เลื่อนการเลือกตั้งไปเองโดยอ้างว่ามีผู้ร้องคัดค้านบัญชีรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยให้มัสยิดต้นสนได้รับทราบแต่อย่างใด

               ๓).กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริหารมัสยิดแต่เพียงผู้เดียว และใช้อำนาจของคณะกรรมการตามลำพัง

              กรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนครบวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘    กฎหมายยังคงให้อำนาจกรรมการยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยชอบด้วยกฎหมายจนกว่าจะมีกรรมการใหม่มาดำรงตำแหน่ง  ทั้งนี้ตามที่ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด พ.ศ.๒๕๔๒ หมวด ๓ ข้อ ๒๐ ที่ได้กำหนดไว้ว่า "เพื่อประโยชน์แก่สำนักงานให้กรรมการซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการคัดเลือกกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะมีกรรมการใหม่มาดำรงตำแหน่ง" 

                  และ กรณีดังกล่าวได้เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีหมายเลขดำที่  ๖๗๔๓/๒๕๔๓  หมายเลขแดงที่ ๓๗๗๔/๒๕๔๕ ระหว่าง  มัสยิดอัสสลาม โจทก์  กับ นายทินกร  มีหิรัญ  กับพวกรวม ๑๑ คน จำเลย  ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานโดยอ้างระเบียบเดียวกัน

                  และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยังได้เคยตอบข้อหารือที่ สกอท.๑๑.๐๓/๒๕๔๙ เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมของมัสยิดต้นสนที่ได้ก่อสร้างอาคารภายหลังจากที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนได้หมดวาระลงแล้ว (ปี พ.ศ.๒๕๔๘) เนื่องจากจะต้องมีการเบิกจ่ายเงินจากธนาคารเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย  ซึ่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ตอบไว้ว่า “ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยฉบับที่อ้างถึง ข้อ ๒๐ บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะมีกรรมการใหม่.. เห็นว่าคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนสามารถลงมือก่อสร้างอาคารศูนย์อบรมศาสนาฯตามที่หารือได้”  

                 ๔).กรณีถูกกล่าวหาว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการคัดเลือกบิหลั่น คอเต็บ และกรรมการมัสยิดที่ครบวาระไปนานแล้ว 

                  การดำเนินการแจ้งให้มีการคัดเลือก และการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิคัดเลือกฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด มิใช่งานในอำนาจหน้าที่ของอิหม่าม ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานกันเพื่อจัดทำทะเบียนสัปปุรุษ  เพื่อที่ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครจะได้ประกาศให้มีการคัดเลือก   ล่าสุดนั้นคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนได้จัดส่งสำเนาทะเบียนสัปปุรุษ และบัญชีผู้มีสิทธิคัดเลือกฯ ให้แก่สำนักงาน กอ.กทม.เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔    

                เหตุที่ยังไม่สามารถคัดเลือกได้อีกประการหนึ่งก็คือ คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครยังไม่แจ้งคำวินิจฉัยในหนังสือร้องเรียนที่อ้างเป็นเหตุในการเลื่อนการคัดเลือกกรรกมารมัสยิดต้นสนเมื่อปี ๒๕๔๙ ข้างต้น  โดยทางมัสยิดได้มีหนังสือทวงถามไปโดยตลอด  และกำลังดำเนินการยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลต่อไป

               ๕).อิหม่ามใช้จ่ายเงินของมัสยิดไปในทางเสื่อมเสียแก่มัสยิด

               มัสยิดต้นสนได้ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายเงินของมัสยิดเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าโดยหลักการของศาสนาอิสลามแล้ว ข้าพเจ้าในฐานะอิหม่ามมีสิทธิที่จะใช้จ่ายเงินของมัสยิดได้โดยลำพังดังที่ผู้ที่บริจาคทรัพย์สินให้แก่มัสยิดต้นสนได้บันทึกคำสั่งเสียไว้บนแผ่นป้ายหินอ่อน บริเวณทางเข้าของมัสยิดทั้งสองแผ่น ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๙  ซึ่งมีข้อความว่า "ข้าพเจ้า พลอยบุตรี ขุนอนุชิต (ชื่น) นิ่มมารดา ตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดเสาวะโคน เลขที่ (๑๒๖) ตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ ที่สวนคลองพญาไทย โฉนดที่ (๗๐๘) ที่ดินระวาง ๑ต ๒อ } ๑  เลข (๑๖๙) นำสำรวจ (๙๗) ตำบลประแจจีน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เป็น เนื้อที่ (๗ไร่) งาน ๒๒ วา ถวายเป็นว่ากับเกนบุญ ไว้ในมะสยิดกุฎีต้นสน ตำบลคลองบางกอกใหญ่ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เพื่อประโยชน์ดังนี้ คือ สรรพประโยชน์ ที่เก็บจากสวนรายนี้ ให้แบ่งออกเป็น (๓)ส่วน ๆ

                  (๑)ให้บำรุงแลซ่อมแซมกุฎีให้ถาวร  (๒)ให้เป็นค่าใช้จ่ายในกุฎี ตลอดจนค่าอาหาร และการเลี้ยงในงานปี (๓)ให้เชิญท่านผู้ถือสาสนาอิสลาม มาอ่านกุลหู้วั้ลเลาะ  ยาซิ่ล, ตะหะเลน, ฟาติฮะ, หรือจะอ่านอย่างอื่นบ้างก็ตามซึ่งเกิดกุศลในทางสาสนาอิสลาม ขอบาระกัตท่านตวนอี้หม่ำ  ซึ่งเป็นผู้ปกครองอยู่ในกาลบัดนี้ และภายหน้าได้โปรดจัดการตามข้อความซึ่งได้กล่าวมานี้เทอญ ซึ่งอดีตจุฬาราชมนตรีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เมื่อครั้งท่านมาเยือนมัสยิดต้นสน ท่านได้เคยวินิจฉัยไว้ต่อหน้าคนมากมายว่าใครที่มาเป็นอิหม่ามที่มัสยิดต้นสนแห่งนี้สามารถใช้จ่ายเงินในกิจการของมัสยิดได้เลยโดยไม่ต้องมีมติของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดแต่อย่างใด  ซึ่งท่านอิหม่ามหมัดอาดัม ศรีวิเศษ กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือยืนยันรับรองความเห็นดังกล่าวนี้ไว้เช่นกัน

                 ซึ่งนับแต่ข้าพเจ้าได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔  ข้าพเจ้าไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าวนี้โดยพลการ  ดังจะเห็นได้จากรายงานการประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสน ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๔ ซึ่งข้าพเจ้าร่วมกับที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินในบัญชีธนาคารของมัสยิดว่าต้องมีกรรมการร่วมลงนามเบิกจ่าย   ที่ประชุมได้มีมติว่า "ผู้ที่ทรงสิทธิในการเบิกสั่งจ่ายเช็ค ขอให้เป็นจำนวน ๕ ท่าน และ ๓ ท่านใน ๕ สามารถเซ็นอนุมัติได้โดยมีอิหม่ามเป็นคนเซ็นหลักทุกครั้ง ...

                 ทั้งนี้การสั่งจ่ายเงินทุกครั้งต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมทุกคราวไป จะทำการโดยพละการไม่ได้เป็นอันขาด”  และมติครั้งต่อมาเมื่อกรรมการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายเงินบางท่านถึงแก่ความตาย และได้ลาออก  ที่ประชุมได้มีมติใหม่ ในการประชุมครั้งที่๑/๒๕๔๖ ว่า “ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติเงินสั่งจ่ายกับทางธนาคาร..จำนวน ๔ ท่าน ดังต่อไปนี้ ๑). นายพัฒนา  หลังปูเต๊ะ (อิหม่าม)  ๒).นายวิบูลย์  มุขตารี (เหรัญญิก) ๓).นายศิริ ชลายนเดชะ(เลขานุการ)   ๔).นายสมัคร ชลายนเดชะ (ปฏิคม)  โดยในการอนุมัติการสั่งจ่ายเงินกับทางธนาคารนั้น ต้องลงนามเซ็นชื่ออนุมัติจำนวน ๓ ใน ๔ ท่าน และต้องมีผู้เซ็นลงนามเป็นหลัก ๒ ท่านทุกครั้ง คือ นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ (อิหม่าม) กับ นายวิบูลย์ มุขตารี (เหรัญญิก)  พร้อมตราประทับของมัสยิด..” ซึ่งทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่านายวิบูลย์ มุขตารี ซึ่งเป็นเหรัญญิกของมัสยิดต้นสนนั้น  ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครด้วย

                 ดังนั้น  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน  การควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินของมัสยิดต้นสนทุกครั้งจึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของนายวิบูลย์ มุขตารี ในฐานะเหรัญญิกของมัสยิดต้นสน  และช่วงระยะเวลา ปี พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๙ ตามที่นายมนูญพันธ์  รัตนเจริญ ร้องเรียนก็อยู่ในช่วงที่นายวิบูลย์ มุขตารี เป็นผู้รับผิดชอบการเงินของมัสยิดในฐานะเหรัญญิก โดนนายวิบูลย์  มุขตารี  ซึ่งเป็นผู้เก็บสมุดเช็คก็เป็นผู้ที่ร่วมลงนามเบิกจ่ายเป็นหลักด้วยทุกครั้ง ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายตามมติที่ประชุม และมีการรับรองรายรับ-รายจ่าย มาโดยตลอด  

               ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด พ.ศ.๒๕๔๒ ในข้อ ๒๗ ได้กำหนดว่า "ให้มัสยิดจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในครอบครอง หรืออำนาจสั่งการ ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และไม่ขัด หรือแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง" 

                การใช้จ่ายเงินของมัสยิดมัสยิดต้นสน   ในการซ่อมแซมมัสยิด หรือค่าใช้จ่ายของมัสยิดในการบริหารศูนย์อบรมกอรีหรือฮาฟิซมัสยิดต้นสน  รวมทั้งการจัดการศึกษาในศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมของมัสยิดต้นสนเป็นไปตามคำสั่งเสียของผู้วะกั๊ฟ   และเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสนที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  จึงเป็นไปตามบัญญัติศาสนาอิสลาม  และบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ.


ดาโต๊ะ ดร.พัฒนา   หลังปูเต๊ะ
อิหม่ามประจำมัสยิดต้นสน